พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์

       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างที่เรียกว่า “ทรงตรากตรำพระวรกาย” เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของราษฎรส่วนใหญ่ ที่เป็นเกษตรกรชาวไร่ชาวนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จ ฯ เยี่ยมเยียนพสกนิกรทั่วประเทศและทรงมีพระราชดำริโครงการต่าง ๆ เพื่อความอยู่ดีกินดี ของประชาชน ดังนั้น พระองค์จึงโปรดเกล้า ฯให้สร้างพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และทรงแปรพระราชฐานเพื่อเยี่ยมเยียนพสกนิกรทางภาคเหนือ โดยประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๕ และโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อการเสด็จ ฯ เยี่ยมพสกนิกรทางภาคใต้ได้ทรงประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๖

การสำรวจพื้นที่

       ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สำรวจพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อสร้างพระตำหนักสำหรับแปรพระราชฐานในการเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ประกอบกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเวลานั้นมีความขัดแย้งทางความคิดในเรื่องลัทธิการปกครอง และมีภัยคุกคามอย่างร้ายแรงถึงขั้นจับอาวุธต่อสู้เป็นสงครามแย่งชิงประชาชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้หาพื้นดังกล่าว เพื่อสร้างที่ประทับตรงนั้น แสดงให้เห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงหวั่นต่อเหตุการณ์บ้านเมืองที่ไม่น่าไว้วางพระหทัยพระองค์มีพระราชประสงค์จะปกป้องชุมชน ซึ่งในช่วงนั้นพื้นที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และอำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ถือเป็นพื้นที่สีแดงเทือกเขาภูพาน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าป่าชมภูพานนั้น ทอดยาวเข้าไปในพื้นที่ ๓ จังหวัดคือ สกลนคร กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร มีเนื้อที่กว่า ๔๓๖,๐๐๐ ไร่ มีสภาพป่าดงดิบที่สมบูรณ์และมีถ้ำขนาดใหญ่ พื้นที่บริเวณนี้ จึงเป็นฐานสำคัญของผู้ก่อการร้ายมีการจัดตั้งกำลังรบ รวมทั้งเป็นเส้นทางลำเลียงอาหาร เวชภัณฑ์ และยุทธปัจจัย สู่กองบัญชาการใหญ่รัฐบาลสมัยนั้นได้กราบบังคมทูล ฯ ถวายรายงานดังกล่าว แต่ก็มิสามารถยับยั้งพระราชประสงค์ได้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงพิจารณารายละเอียดของเทือกเขาภูพานจากแผนที่ทางอากาศซึ่งต่อมาคณะสำรวจจากราชสำนัก ร่วมกับคณะของจังหวัด นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งทหาร ตำรวจสถาปนิก วิศวกร เดินทางเข้าสู่พื้นที่ใกล้เขตป่าสงวนน้ำตกตาดโตน ซึ่งเป็นชัยภูมิที่ราบเชิงเขา มีธารน้ำไหลผ่านเหมาะที่จะสร้างพระตำหนัก คณะผู้สำรวจ จึงกำหนดแนวแผนผังบริเวณก่อสร้างพระตำหนัก ซึ่งรอบ ๆ แนวก่อสร้างยังเป็นป่ามีไม้ประดู่ สลับด้วยไม้ตะแบก

การก่อสร้างพระตำหนัก

       บริเวณที่คณะสำรวจ ฯ ได้กำหนดแนวแผนผังการก่อสร้างพระตำหนักนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเรือนรับรองหลังแรก คือพระตำหนักปีกไม้ สร้างในรูปแบบล็อคเคบิน โดยเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ และเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จ ฯ มาประทับที่พระตำหนักปีกไม้ เป็นครั้งแรกในช่วงนั้นได้มีพระบรมราชโองการให้สร้างพระตำหนักใหญ่ตรงพื้นที่ที่พระองค์ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พื้นที่การก่อสร้างพระตำหนักหลังใหญ่ ซึ่งเป็นเนินผา ทรงกำหนดในผังให้อยู่ห่างจากที่ตั้งพระตำหนักปีกไม้ไม่มากนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงใช้แผนที่ทางอากาศพระราชทานลง ซึ่งพื้นที่สร้างพระตำหนักหลังใหญ่ เป็นจุดยุทธภูมิที่ดี ที่เหมาะสมมาก เพราะเป็นเนินสูงทำให้สามารถมองเห็นสภาพโดยรอบพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์มีพื้นที่ ๑,๒๙๔ ไร่ สถาปนิกผู้ออกแบบคือ ม.ร.ว.มิตรารุณ เกษมศรีผู้วางภูมิทัศน์คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ประชิด มาวานนท์ พระตำหนักหลังใหญ่เป็นตึกสองชั้นมีรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ และยังได้ก่อสร้างพระตำหนักอีกหลังหนึ่งติดกับพระตำหนักใหญ่มีทางเชื่อมกันเป็นพระตำหนักที่มีรูปแบบในยุคสมัยเดียวกัน ภายในบริเวณพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ยังมีงานก่อสร้างอาคารบ้านพักข้าราชบริพารเพื่อให้เพียงพอต่อการเข้าพัก

พื่นที่บริเวณตำหนักภูพานราชนิเวศน์

       จุดเด่นของตำหนักภูพานราชนิเวศน์นอกจากด้านรูปทรงสถาปัตยกรรมแล้ว งานด้านภูมิทัศน์ ถือว่าเป็นส่วนที่ดึงดูดให้ประชาชนเข้าชมด้วยความชื่นชอบ ภูมิทัศน์เขตพระราชฐานพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จัดแบ่งเป็นสวนได้ดังนี้ สวนในหมู่พระตำหนัก อาคารรับรองราชอาคันตุกะ ที่พักคุณข้าหลวงและข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน เมื่อดูจากสภาพพื้นที่ ที่เป็นเชิงเนินชายเทือกเขาภูพานตอนกลางซึ่งเป็นภูเขาหินทรายปกคลุมด้วยผิวดินซากสลายบนดินลูกรัง จึงเหมาะที่จะจัดสวน ๕ รูปแบบ คือ

๑.สวนรวมพันธุ์ไม้ (Mixed Garden)
๒.สวนแบบประดิษฐ์ ( Formal Style )
๓.สวนแบบธรรมชาติ ( Informal Style )
๔.สวนหินประดับ ( Rock Garden)
๕.สวนประดับหิน ( Stone Garden)

       การจัดสวนได้นำรูปแบบข้างต้นมาจัดตามสภาพพื้นที่อำนวย ตั้งแต่นอกเขตพระตำหนัก ฯ ริมถนนมีอ่างเก็บน้ำคำหอม ปริมาตรน้ำ ๕๐,๐๐๐ ลบ.เมตร ปลูกบัวสายสีแดง ชมพู ม่วงบริเวณริมอ่างน้ำนี้จะนำหินทรายแดง ( Red Stone ) มาตั้งเป็นสวนแบบสวนหินประดับเรียงรายอยู่โดยทั่วบริเวณ สลับกับต้นตะแบกส้าน ประดู่ อีกทั้งปลูกไม้ดอก และไม้ใบ สลับให้สวยงาม

หน้ากองรักษาการณ์ ได้จัดสวนแบบประดิษฐ์ แบบเรียบง่าย

พระราชฐานชั้นใน เส้นทางสำหรับเสด็จพระราชดำเนินต้องผ่านธารน้ำมีการก่อสร้างสะพานเหล็ก (สะพานแบรี่ย์) ทอดข้าม

มุมถนนสามแยก จัดสวนประดิษฐ์ ตราสัญลักษณ์ประจำพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์เป็นรูปยอดพระธาตุเชิงชุม ล้อมด้วยพระมหาพิชัยมงกุฎ ปลูกต้นปาล์มพัดโบก ปาล์มบังสูรย์และต้นผักเป็ดแดง ประดับด้วยหินทราย ( Stone Garden) ด้านหลังปลูกต้นปาล์มพัด หรือกล้วยลังกาและหมู่สนบูล ต้นไม้กินได้

ฝั่งตรงข้ามหมู่หินประดับ 

       จัดเสริมไม้ดอกสีต่าง ๆ ตามฤดูกาลแบบสวนรวมพันธุ์ไม้ ( Mixed Garden ) บริเวณที่เป็นสวนประดับทั่วไปริมถนนภายในเขตพระราชฐาน ปลูกปาล์มพัดคู่สลับเป็นระยะกับร่องไม้ดอก มีดอกบานเช้า กระดุมทอง บานชื่น และหมู่ไม้ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ข้างพระตำหนักเป็นพรรณไม้พุ่มเนื่องจากแสงส่องถึงน้อย มาปลูกประดับ

หน้าพระตำหนัก 

       จัดสวนแบบประดับหิน ประกอบด้วยกุหลาบ หลิวไต้หวัน อาซาเลีย หรือกุหลาบพันปีของไทย ชบาฮาวายสีต่าง ๆ ปลูกไม้ดอกตามฤดู ปลูกขิงแดง ปลูกไม้ประดับ พวกคล้าเฟิร์นใบมะขาม ดาหลา จะมีจุดเด่นอยู่ที่ไม้พันธุ์ต่าง ๆ จะมีการดอกออกตลอดปีและในที่นี้มีต้นพลองออกดอกสีฟ้า เป็นต้นไม้ป่า ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรด ฯ มากและต้นสร้อยอินทนิล เฟื่องฟ้า

เรือนคำหอม 

       ที่ทรงงานส่งเสริมศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถเป็นสถานที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมาชิกกลุ่มสตรีเข้าเฝ้าถวายงานฝีมือบริเวณนี้ประดับด้วยพันธุ์ไม้ดอกจากป่าภูพาน รวมทั้งดอกเทียนป่า การปลูกประดับจะปลูกได้ในปลายฤดูฝนถึงฤดูหนาว ดอกไม้เหล่านี้ เป็นที่ชื่นชอบของผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก

เรือนรับรองปีกไม้ 

       สร้างแบบล็อคเคบิน ซึ่งเป็นเรือนที่เสด็จ ฯ มาประทับครั้งแรกที่พระตำหนัก ภูพานราชนิเวศน์แต่งด้วยสวนประดับหิน และไม้ดอกตามฤดูกาล

การดูแลรักษาแปลงไม้ดอกไม้ประดับ 

       ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์เป็นงานที่ยากกว่าที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เนื่องจากจังหวัดสกลนครจะมีกระแสลมร้อนที่พัดพามาถึงเร็วกว่าจังหวัดเชียงใหม่รวมทั้งความหนาวเย็นของสภาพอากาศที่จังหวัดสกลนครก็ไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นแม้การปลุกกุหลาบที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จะมีขนาดของดอกใหญ่ไม่แพ้ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ก็ตาม แต่เมื่อความร้อนมาถึงเร็ว ดอกุหลาบจะฝ่อ และแมลงเข้าทำลายเร็ว พอถึงช่วงเดือนเมษายน –พฤษภาคม ก็จะเลี้ยงเฉพาะต้นเอาไว้พวกพืชเมืองหนาวอื่น ๆ จะเริ่มเพาะในราวเดือนสิงหาคมเพาะเลี้ยงในโรงพลาสติก พอถึงปลายเดือนกันยายน ก็จะปลูกลงดิน เพราะช่วงนั้นปริมาณน้ำฝนจะน้อยลงการดูแลไม้ดอกก็ใช้เทคนิคพิเศษเข้าช่วย เช่น ถ้าต้องการให้ไม้ดอกออกดอกเร็ว ก็ต้องเพิ่มแสงให้ เป็นต้นในช่วงฤดูร้อนมีการตัดแต่งต้นไม้ ซึ่งได้ปฏิบัติตามพระบรมราโชบายที่ให้ช่วยกันรักษาป่าหากมีการตัดต้นไม้ก็เพื่อการตกแต่งให้แตกกิ่งใบใหม่ ไม่ใช่ตัดทิ้ง การปลูกและการดูแลต้นไม้อย่างต่อเนื่องทำให้พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ มีสภาพป่าที่เป็นธรรมชาติ และมีความร่มรื่นมากขึ้นแตกต่างจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

ทรงให้ฟื้นฟูสภาพป่า

       สภาพเดิมในบริเวณพระตำหนักภูพาน ฯ เป็นป่าดิบ แต่ด้วยวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ต้องยังชีพด้วยการพึ่งพาป่าการเผาถ่านเป็นอาชีพหนึ่งที่ชาวบ้านผู้อาศัยอยู่ในป่าได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลานานจึงทำให้พื้นที่ป่าบางบริเวณถูกทำลายไป กลายเป็นป่าดิบแล้งและจนกระทั่งกลายเป็นทุ่งหญ้าเพ็กขนาดกว้างใหญ่ทำให้ต้นไม้ใหญ่ไม่สามารถจะเกิดและเจริญเติบโตทดแทนขึ้นมาได้เนื่องจากทุ่งหญ้าเพ็กมักจะเกิดไฟป่าในหน้าแล้งนั่นเองเพื่อเป็นการรักษาสภาพป่า จึงมีการปลูกไม้เสริมทั้งภายในและส่วนบริเวณนอกเขตพระราชฐานพระตำหนัก ภูพานราชนิเวศน์มีการปลูกต้นไม้ในพื้นที่โดยรอบนอกเขตพระราชฐาน ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ เป็นการฟื้นฟูสภาพป่าโดยเน้นการปลูกไม้เนื้อแข็งที่เป็นไม่เป็นไม้เศรษฐกิจ เช่น มะค่า ไม้แดงนอกจากการปลูกต้นไม้เสริมในพื้นที่ป่าที่ว่างแล้ว ยังมีการเลี้ยงลูกไม้ธรรมชาติ โดยปล่อยให้ลูกไม้ไปตามสภาพซึ่งหลังจากดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตลอด ๒๐ ปี ปัจจุบันพื้นที่บริเวณพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์มีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์มากขึ้นชาวบ้านบริเวณนี้สามารถหาผลผลิตจากป่าได้มากขึ้นทำให้ชาวบ้านรักป่าและเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันรักษาป่า

โครงการคืนชีวิตสู่ป่า

       เมื่อฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณพระตำหนัก ภูพานราชนิเวศน์แล้ว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นำกวาง เนื้อทราย มาเลี้ยงปล่อยในเขตพื้นที่ป่า ๕๐ ไร่ รอบนอกพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เพื่อให้กวางได้ปรับตัวก่อนที่จะปล่อยกวางในเขตอุทยานแห่งชาติภูพานต่อไป ในปี ๒๕๓๘ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นำช้างสำคัญ จากพระตำหนักสวนจิตรลดา ๒ ช้าง มาอยู่ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และให้ออกหาอาหารตามธรรมชาติในบริเวณรอบนอกพระตำหนักฯซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าชายฟิลิปดยุคแห่งเอดินเบอระพระราชสวามี ให้ทอดพระเนตรช้างสำคัญ ณ บริเวณโรงช้างต้น พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ด้วย เมื่อเสด็จ ฯเยือนจังหวัดสกลนคร ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ครั้งนี้ด้วย
       ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นำช้างอีก ๒ ช้างมาไว้ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ซึ่งการนำช้างเผือกมาไว้ที่พระตำหนัก ภูพานราชนิเวศน์ครั้งนี้ส่งผลให้เกิดโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติในอีกหลายพื้นที่ เช่นที่ปขุนห้วยแม่หละ บ้านปางหละ ตำบลบ้านหวดอำเภอง้าว จังหวัดลำปาง ที่บริเวณห้วย เวียนไพร เขตติดต่อระหว่างอำเภอเมือง และอำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร

พระมหากรุณาธิคุณปกเกล้า ฯ

       การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จ ฯ แปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เพื่อสำรวจความทุกข์-สุขของพสกนิกร ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานพระราชดำริฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานขึ้น ที่บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาและทดลองงานด้านพัฒนาทุกรูปแบบและถ่ายทอดผลงานที่ทดลองให้ราษฎรนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองจากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ลงไปสู่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานนับเป็นจุดสำคัญของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดสกลนคร และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถึงขณะนี้ มีโครงการต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั่วภาคอีสานมากกว่า ๓๐๐ โครงการมีงบประมาณสนับสนุนมากกว่า ๑,๖๐๐ ล้านบาท เพื่อการค้นคว้า ทดลอง ฝึกฝนเพื่อให้ผลการศึกษาทดลองลงไปสู่เกษตรกรชาวไร่ชาวนา

       สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จ ฯ เยี่ยมเยียนชาวบ้านที่ยากจนในชนบทภาคอีสานจะทรงพิจาณาคัดเลือก และโปรดเกล้าให้ชาวบ้านที่มีฐานะยากจนเข้ามารับการฝึกงานศิลปหัตถกรรมในศูนย์ศิลปาชีพ โดยจะทรงให้เข้ามาทดสอบความถนัดที่โรงฝึกพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ก่อนเข้ารับการอบรมในสาขาใดสาขาหนึ่ง และจะส่งไปฝึกหัดงานที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต หรือในศูนย์ศิลปาชีพในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งขึ้นกับความสมัครใจของผู้เข้าอบรมในยามที่ล้นเกล้า ฯ ทั้งสองพระองค์แปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์จะมีสำนักแพทย์หลวงตามเสด็จ ฯ มาคอยถวายการดูแลรักษารวมทั้งดูแลรักษาข้าราชบริพารและยังทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้แพทย์จากสำนักแพทย์หลวงตรวจรักษาพสกนิกรที่เฝ้ารับเสด็จ ฯ ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ อีกด้วยถึงแม้ล้นเกล้า ฯ ทั้งสองพระองค์ จะทรงมี หรือพระราชทานพระราชดำริ ในหลายหลากเรื่อง หลากหลายโครงการแต่ทุกเรื่องทุกโครงการก็มีเป้าหมายเดียวกัน “เพื่อดับทุกข์ยากของราษฎรของพระองค์เป็นสำคัญ”

******************************************************