โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)

วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2564
โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)

       พระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นที่ประทับสมเด็จพระมหากษัตราธิราช สมเด็จพระอัครมเหสี พระราชวงศ์ฝ่ายใน ประกอบไปด้วยพระตำหนักเรือนหลวง และอาคารใหญ่น้อยอันเป็นที่เก็บรักษาเครื่องราชูปโภคและเครื่องราชภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์สำหรับการพระราชพิธีและพระราชกุศล การบริหารราชการฝ่ายในนั้น พระมหากษัตริย์ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ฝ่ายใน ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยไปทรงกำกับดูแลเครื่องราชภัณฑ์ สิบสองท้องพระคลังและกิจการภายในทั้งปวงต่างพระเนตรพระกรรณ ในการพระราชพิธีต่างๆ พระราชวงศ์ฝ่ายในจะอัญเชิญเครื่องราชูปโภค และเครื่องราชภัณฑ์ ออกตกแต่งด้วยเครื่องอลงกรณ์ หรือดอกไม้สดให้สวยงามเพื่อการพระราชพิธีนั้นๆ จึงเกิดเป็นขนบประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามจนถึงปัจจุบัน
     กาลต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จเถลิงถวัลย  ราชสมบัติแล้ว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิรูปการปกครองราชอาณาจักรอย่างโบราณคือ จตุสดมภ์ ๔ เวียง วัง คลัง นา เป็นการแบ่งส่วนราชการออกมาเป็นกระทรวงเพื่อการเหมาะสม  แก่การปกครองประเทศ ได้ทรงเลือกสรรพระบรมวงศ์ฝ่ายหน้าและขุนนางผู้ใหญ่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีเพื่อการบริหารประเทศ ในสมัยนั้นสถานศึกษาที่จะอบรมกุลธิดาและสตรียังไม่มีในประเทศ กุลธิดาและสตรีได้เรียนรู้เรื่องมารยาทของสตรี การครองเรือน การช่างประดิษฐ์ การร้อยมาลัย เย็บปัก ถักร้อย ทำเครื่องหอม อบร่ำบุหงา ปรุงอาหาร ถนอมอาหาร ตลอดทั้งการศึกษาภาษาศาสตร์จาก ราชสำนักฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวังทั้งสิ้น 
     ด้วยเหตุนี้บรรดาเสนาบดีและขุนนางผู้ใหญ่จึงได้นิยมส่งกุลธิดาของตน เข้าอบรมบ่มนิสัย และเรียนรู้มารยาทของสตรีและช่างสตรีต่างๆ จากราชสำนักของเจ้านายฝ่ายใน ประกอบทั้งวิวัฒนาการใหม่ๆจากประเทศตะวันตกได้แพร่หลายมาสู่ประเทศตะวันออกบ้างแล้ว พระบรมมหาราชวังชั้นในจึงเปรียบเสมือนโรงเรียนการเรือนและโรงเรียนการช่างสตรี (Finishing School) ของกุลสตรีในยุคนั้น

โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)
โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)

นักเรียนโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) กำลังศึกษาวิธีการห่อขนมใส่ไส้

     ในราชสำนักของพระอัครมเหสีหรือพระราชวงศ์ฝ่ายในจะเพียบพร้อมไปด้วย เจ้าจอม ข้าหลวง และข้าราชบริพารผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ และความชำนาญงานช่างประดิษฐ์ ในสาขาต่าง ๆ มาร่วมปฏิบัติหน้าที่การงานอย่างขะมักเขม้น เพื่อให้สำเร็จเรียบร้อย ดังเช่น พระราชนิพนธ์ และบทโคลงจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงบันทึกไว้ว่า
    “ตื่นเช้าสามโมง กินข้าวแล้วออกไปเรียนหนังสือ เลิกเรียนแล้วกลับมา เราอยู่กับน้าสร้อย[1] ป้าโสม[2] ไม่อยู่ ไปดูการร้อยดอกไม้ของเสด็จน้าที่พระที่นั่งทรงธรรม”[3] ทูลกระหม่อมประทมตื่น เราไปเฝ้าในห้องใหม่ เราอยู่รับใช้ ทูลกระหม่อมทรงพระอักษรแล้วประทมหลับ เรานอนหลับด้วย    ค่ำดูดอกไม้เสด็จน้าและพวกเจ้าจอม แขวนในที่งามดี โคลงของเราติดปลายพระที่”

และบทโคลงพระราชนิพนธ์

            พระนางเจ้ากับทั้ง     นารี

   ทรงจัดร้อยมาลี                 หลากไว้

   เพื่อฉลองพระคุณมี             มามาก  แล้วนะ

   เฉลิมพระยศท่านไท้             ธิราชเจ้าจอมวัง

[1] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์

[2] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตน์สิริเชษฐ์ พระองค์เจ้าโสมาวดีศรีรัตนราชธิดา

[3] พระที่นั่งทรงธรรม ปัจจุบันอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารา

อีกตอนหนึ่งทรงบันทึกไว้ว่า
     “เราตื่นนอนแต่เช้า ลงมากินข้าวที่มุข สองโมงแต่งตัวไปบน เรียนหนังสือแล้วกลับห้าโมง ป้าโสมบอกสมเด็จแม่ทรงจ้างฝรั่งมาใหม่ มีคนหนึ่งทำการในโรงเย็บ เราอยากรู้จัก ลงไปดู เราอยู่ที่โรงเย็บ (โรงเย็บอยู่ที่พระที่นั่งทรงธรรม ในสวนศิวาลัย ปัจจุบันรื้อแล้ว หม่อมเจ้าหญิงไขศรี ปราโมช เป็นหัวหน้า มีหน้าที่เย็บของเจ้านายและผู้อยู่ในพระราชฐาน) เพียงนาน กลับตำหนักบ่าย สมเด็จแม่ประทมตื่นเราขึ้นไปเล่นบนโน้น ให้ป้าโสมทำไอศกรีมมะพร้าวอ่อน เราทำด้วย ฯลฯ”
     เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ ๕ ท่านกรุณาเล่าให้ฟังว่า ในราชสำนัก พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ข้าหลวงและข้าราชบริพารมิได้อยู่ว่างกันเลย พระวิมาดาเธอฯ จะจัดงานให้ทำอย่างทั่วถึง ผู้ใดยังไม่มีประสบการณ์ ก็ให้คัดพิมเสน ออกเป็นพวก ๆ อย่างเกล็ดใหญ่สำหรับใส่ตลับเสวยกับหมาก อย่างเกล็ดกลางใส่ขวดไว้สำหรับปรุงน้ำอบน้ำมัน อย่างเกล็ดเล็กสำหรับอบยาฝอย บางกลุ่มเอาข้าวโพดแห้งมาต้มแล้วแกะเยื่อหุ้มเม็ดออกทีละเม็ดแล้วนำมาทอดให้กรอบร่วน แล้วฉาบด้วยน้ำตาลและเครื่องปรุงอย่างเม็ดบัวผัด ทำเป็นเครื่องว่าง ข้าราชบริพารที่มีฝีมือในทางแกะสลักประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ เป็นต้นว่า เกลาอ้อยให้เป็นลูกลางสาด ผลเงาะต้องปอกและคว้าน ผลมะปรางปอกและทำริ้วเป็นก้นหอย การจัดพานผลไม้ด้วยใบไม้ประดิษฐ์พวงเครื่องร้อยเครื่องแขวนด้วยดอกไม้สดและดอกไม้แห้ง เพื่อหาความเชี่ยวชาญและความชำนาญงาน

โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)

พวงกลาง ทำด้วยดอกไม้สด
เครื่องแขวนประดับช่องหน้าต่างและช่องประตู

โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)

ดอกไม้สดร้อยประดับกรอบภาพอย่างงดงาม

     เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชบัญชาให้ฟื้นฟูโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง เป็นครั้งแรกในการสมโภช กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เพื่อการศึกษาของเยาวชน และดำเนินรอยตามพระยุคลบาท สมเด็จพระปิตามหัยกา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
     พุทธศักราช ๒๕๒๗ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ประชวรและเสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายโดยพระอาการสงบ ณ พระตำหนักวังศุโขทัย ถนนสามเสน อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเศร้าสลดพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระบรมศพ ถวายพระเกียรติยศ ตามโบราณราชประเพณีประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ทั้งกลางวันและกลางคืน รับพระราชทาน ฉันเช้าและเพล มีกำหนด ๑๐๐ วัน
     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี[4] ได้เสด็จพระราชดำเนิน มาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจถวายภัตตาหารแด่พระพิธีธรรมในตอนเช้าทุกวัน ทอดพระเนตรภัตตาหารคาวหวาน ที่พนักงานฝ่ายในทรงประเคนประกอบขึ้นเป็นสำรับนั้นไม่เคยซ้ำกันเลย ทรงสนพระราชหฤทัย เป็นอย่างยิ่งถึงกับเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการประกอบอาหารที่ “โรงวิเสท” ในพระบรมมหาราชวัง

โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)

[4] ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์ มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ ก็ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีด้วยพระวิริยอุตสาหะ เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์อย่างใหญ่หลวง เป็นอเนกประการ ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในหลายวาระ และช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามฐานะแห่งพระบรมราชวงศ์
      จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี
      การที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโรงวิเสท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงคำนึงถึงงานช่างประดิษฐ์ของสตรีที่มีอยู่หลายแขนง อาทิ การจัดดอกไม้ ร้อยดอกไม้ การเย็บ การปักสะดึง การแกะสลักผักผลไม้ การทำเครื่องหอมอบร่ำ การปรุงอาหาร คาวหวาน ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานที่ต้องใช้ฝีมืออันละเอียดอ่อน แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมตลอดจนประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาล ทรงปริวิตกกังวลพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้ทราบฝ่าละออง พระบาทว่า สตรีที่มีความรู้เชี่ยวชาญทางด้านช่างนั้นนับวันจะหมดไป ที่มีชีวิตอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ก็มีอายุและชราภาพมาก สมควรที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป จะเป็นประโยชน์ ไม่น้อย

โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)

นักเรียนโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) กำลังประดิษฐ์ดอกไม้สด

     ต่อมาได้มีพระราชบัญชาให้สำนักพระราชวังดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนผู้ใหญ่ ประเภทวิชาชีพ ไม่เก็บเงินบำรุงการศึกษา ขึ้นที่ในบริเวณพระบรมมหาราชวังชั้นใน ถนนมหาราช แขวงพระราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยใช้ชื่อว่า“โรงเรียนผู้ใหญ่พระตำหนักสวนกุหลาบ (วิทยาลัยในวัง)” (Phratamnak Suankulap Adult Education School) สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ให้ประชาชนตระหนักในคุณค่า ของศิลปะและวัฒนธรรมอันดีงามของไทย สนับสนุนให้มีการถ่ายทอดความรู้ความสามารถและทักษะให้แก่สตรี จนสามารถนำไปประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
     โรงเรียนผู้ใหญ่พระตำหนักสวนกุหลาบ (วิทยาลัยในวัง) เริ่มเปิดทำการสอนเมื่อ วันที่ ๒๐ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙ เรียนสัปดาห์ละ ๕ วัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ น. ถึง ๑๒.๐๐ น. หยุดเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดตามนักขัตฤกษ์
     กำหนดภาคเรียนที่ ๑ ตั้งแต่ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ถึงวันที่ ๑๙ ตุลาคม
     ภาคเรียนที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม
     รับสมัครเฉพาะนักศึกษาหญิง ไม่จำกัดความรู้ แต่ต้องมีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป เปิดรับสมัครเดือนมีนาคมถึงเมษายนของทุกปี โดยเปิดสอนวิชาชีพ ๓ แขนงวิชาคือ
     ๑. วิชาอาหารและขนม
     ๒. วิชาช่างดอกไม้สด
     ๓. วิชาช่างปักสะดึง

โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)

นักเรียนโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) กำลังเรียนปักสดึงไหม

     สำหรับสถานที่ ได้รับพระราชทานพระราชาอนุญาต ให้ใช้เรือนซึ่งเดิมเป็นห้องเครื่องของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในเขตพระราชฐานชั้นใน เป็นอาคารเรียนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คุณเพ็ญศรี เขียวมีส่วน หัวหน้าแผนกพระราชฐานชั้นใน (ปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นางสาวพรทิพย์ ทิพนา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) แทน คุณเพ็ญศรี เขียวมีส่วน ซึ่งเกษียณอายุราชการ) เป็นบุคลากรครู ผู้ทำการสอนส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในแผนกพระราชฐานชั้นใน และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในที่มีความเชี่ยวชาญในสาขางานช่างต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนกันมาทำการสอน และนอกจากนี้สำนักพระราชวัง ได้เชิญอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอื่นๆ มาช่วยสอนอีกด้วย นับเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ได้ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระราชทรัพย์ เพื่อการศึกษาวิชาชีพ ของสตรี ให้มีอนาคตแจ่มใสในภายภาคหน้า
ปัจจุบันวิทยาลัยในวังหญิงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)” (Royal Traditional Thai Crafts School for Women)

โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)

นักเรียนโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) กำลังประดิษฐ์ พานพุ่มทอง เงิน

โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)

ผลงานของนักเรียนโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)