พระไตรปิฎกจีน

วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2564
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

     ฯพณฯ นายหยาง ช่างคุณ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มาเยือนประเทศไทย ในฐานะราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๔ วโรกาสนี้ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระไตรปิฏกจีนแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพระราชทาน เลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๔ เวลา ๑๙.๓๐ น.

     พระไตรปิฏกแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนฉบับนี้ เป็นกระดาษสา พับเป็นเล่มลักษณะอย่างสมุด ไทย พิมพ์เป็นตัวอักษรจีน ภาษาบาลีจีนโบราณ ด้วยหมึกจีนสีดำ จำนวน ๗,๓๐๐ เล่ม หรือ ๗๓๐ ผูก พร้อมด้วยคัมภีร์สารบัญพระไตรปิฏกอีก ๑ ผูก เล่มหนึ่งขนาดกว้าง ๕ นิ้วครึ่ง ยาว ๑๙ นิ้วครึ่ง และสูงครึ่งนิ้ว

พระไตรปิฎกจีน

พระไตรปิฎกจีน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

     ตำนานกล่าวว่า เมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๒ พระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ของจีนจำนวนกว่า ๒๐๐ รูป ได้ร่วมกันรวบรวมคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา อันมีนิกายต่าง ๆ ทุกนิกายในประเทศจีน ซึ่งมีผู้แปลหรือแต่งไว้เป็นอักษรจีน ภาษาจีนบาลี ทั้งเก่าและใหม่ทั้งหมด รวมทั้งพระคัมภีร์ของพระเถระ พระถังซำจั๋ง ที่เชิญมาจากแคว้นพระพุทธองค์ในประเทศอินเดีย มีคัมภีร์เก่าที่สุดในสมัยราชวงศ์หงวน ระหว่างพุทธศักราช ๑๘๐๓-๑๙๑๑ ราชวงศ์เหม็ง ระหว่างพุทธศักราช ๑๙๑๑-๒๒๐๓ และราชวงศ์เซ็ง ระหว่างพุทธศักราช ๒๑๕๙-๒๔๕๔ ได้คัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเป็นจำนวนมาก เช่น คัมภีร์มหาปรัชญา ปารมิตาสูตรของนิกายเทียนไถจง ซึ่งเป็นหลักธรรมของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน คัมภีร์ศตะสูตรของนิกาย มาธยมิก คัมภีร์อวตัมสกะสูตรของนิกายหัวเอียนจง คัมภีร์สุขาวดียหะสูตรของนิกายจิ้นถู่ คัมภีร์วัชระสูตร ของนิกายมี่จง เนื้อหาในคัมภีร์ว่าด้วยความสมบูรณ์แห่งปัญญาที่สดใสประดุจน้ำอัญมณี คัมภีร์ไวปุลยะสูตร อันเป็นพระสูตรขยายหลักธรรมให้กว้างขวาง นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ พระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกของฝ่ายมหายานอีกด้วย

ตู้เก็บพระไตรปิฎกจีน

ตู้เก็บพระไตรปิฎกจีน อยู่ที่อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

     เมื่อรวบรวมไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะพระเถรานุเถระจึงได้ร่วมกันจารึกพระไตรปิฎกชุดนี้ลงบนแผ่นไม้เก็บรักษาไว้ จำเนียรกาลต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๓๒ ได้มีผู้ขุดพบพระไตรปิฎกนี้ ซึ่งยังเรียบร้อย และสมบูรณ์ที่สุด รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงได้จัดพิมพ์ด้วยกระดาษสาเป็นหนังสือปกแข็ง จำนวน ๗,๓๐๐ เล่ม และได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระประมุขแห่งราชอาณาจักรสยามเป็นประเทศแรก

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักพระราชวังอัญเชิญพรไตรปิฎกส่วนหนึ่ง จำนวน ๒๐ ผูก ออกประดิษฐาน ณ หอพระมณเฑียรธรรม ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนสักการะและชมเป็นเวลา ๗ วัน ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๔ เมื่อครบกำหนดแล้วจึงอัญเชิญไปประดิษฐานและรักษาไว้ที่อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต