พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา

วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2566

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา

วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จ ฯ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง

 วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จ ฯ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง

ความเป็นมาของวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา

      วันอาสาฬหบูชา คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘  ก่อนวันเข้าพรรษาซึ่งเริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ วันอาสาฬหบูชา ได้รับการประกาศให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ เช่นเดียวกับวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา เนื่องจากเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  ทรงประกาศพระพุทธศาสนา เป็นวันที่มีพระสงฆ์สาวกองค์แรกและเป็นวันที่เกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชาขึ้นส่วนเข้าพรรษาเป็นช่วงฤดูฝน การจาริกธุดงค์ของพระภิกษุสงฆ์ในฤดูนี้ย่อมไม่เหมาะสม  เพราะพระภิกษุสงฆ์จะไปเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวนาเสียหาย สัตว์เล็ก ๆ ก็ถูกพระภิกษุเหยียบย่ำตายไป  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์หยุดพักการจาริกธุดงค์และกำหนดให้อยู่ปฏิบัติศึกษาพระธรรมวินัย ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลา ๓ เดือน เพื่อให้ฤดูฝนผ่านพ้นพุทธศาสนิกชนจึงถือโอกาสดังกล่าวบำเพ็ญกุศลฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล พร้อมทั้งนำเครื่องสักการะบูชา เช่น เทียนพรรษาและสิ่งของบริวาร คือ เครื่องใช้จำเป็นไปถวายแก่พระภิกษุและได้ปฏิบัติเป็นประเพณีสืบมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

          พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

          ก่อนจะถึงวันพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา เจ้าพนักงานจะหล่อเทียนพรรษาและตกแต่งลวดลายปิดทองเทียนพรรษาให้เรียบร้อยแล้วเชิญไปตั้งถวาย ณ พระราชฐานที่ประทับ เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จออก ทรงพระสุหร่ายและทรงเจิมเทียนพรรษา เทียนชนวน และไม้ขีดไฟที่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานไปจุดถวายเป็นพุทธบูชาที่พระอารามหลวง

          ครั้นถึงกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจุดเทียนพรรษาถวายพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระพุทธเลิศหล้านภาไลย ถวายพุ่มเทียน ต้นไม้ทอง-เงิน และทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ และพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่  ทรงจุดเทียนชนวนจากโคมไฟฟ้าพระราชทานเจ้าหน้าที่เชิญไปรักษาไว้สำหรับถวายแก่เจ้าอาวาสพระอารามหลวงต่าง ๆ นำไปจุดเทียนพรรษาที่ทรงพระราชอุทิศ จากนั้น ทรงประเคนถาดพุ่มเทียน อันประกอบด้วยถ้วยใส่ดอกไม้ ธูป ๑ กล่อง เทียน ๕๐ เล่ม แด่สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะ พระฐานานุกรม พระภิกษุเปรียญ และพระภิกษุนาคหลวง พระสงฆ์ที่เฝ้ารับพระราชทานพุ่มเทียนชุดแรก ถวายอนุโมทนาถวายอดิเรก แล้วออกจากพระอุโบสถ พระสงฆ์ชุดต่อไปขึ้นนั่งยังอาสนะสงฆ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชวงศ์ทรงประเคนพุ่มเทียนแก่พระสงฆ์ ๓๐ รูป  พระสงฆ์จำนวนนอกนั้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้องคมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนายทหารชั้นนายพล ประเคนพุ่มเทียนจนครบ ๓๕๐ รูป แล้วพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินกลับ

          ส่วนเทียนพรรษาที่หอสาตราคมในพระบรมมหาราชวัง เทียนพรรษาพระพุทธนรสีห์และพระพุทธบุษยรัตน์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เทียนพรรษาที่พระศรีรัตนเจดีย์และหอพระมณเฑียรธรรม ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  และเทียนพรรษาที่พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชวงศ์เสด็จไปทรงจุดเทียนพรรษาและทรงถวายพุ่มเทียนแทนพระองค์

          พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

          ครั้นถึงวันเข้าพรรษา เวลาเช้า โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน ๑๕๐ รูป เข้ามารับพระราชทานอาหารบิณฑบาต ในพระบรมมหาราชวัง ตามราชประเพณี

          เวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากเครื่องทรงฤดูร้อนเป็นเครื่องทรงฤดูฝน แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงจุดเทียนพรรษาและทรงถวายพุ่มเทียนพระพุทธชินสีห์ และทรงถวายพุ่มเทียนที่พระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ แล้วทรงประเคนพุ่มเทียนแก่เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร จากนั้น ทรงพระดำเนินไปทรงถวายพุ่มเทียนที่ปูชนียวัตถุสำคัญภายในวัดบวรนิเวศวิหาร  เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

          อนึ่ง ในวันเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชวงศ์เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  ทรงจุดเทียนพรรษาบูชาพระรัตนตรัย ทรงถวายพุ่มเทียนบูชาพระพุทธเทวปฏิมากร ทรงถวายพุ่มเทียนบูชาพระอัฐิสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ณ ตำหนักวาสุกรี และทรงประเคนพุ่มเทียนแก่พระราชาคณะ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชวงศ์เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม  ทรงจุดเทียนพรรษา ทรงถวายพุ่มเทียนบูชาพระพุทธชินราช และทรงประเคนพุ่มเทียนแก่พระราชาคณะ เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม 

          ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา กำหนดการแต่งกาย เครื่องแบบปกติขาว

นางสาวเพลินพิศ  กำราญ  เรียบเรียง