พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จ ฯ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2565

          วันที่ 20 ตุลาคม 2565 เวลา  16.25 น.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร  กรุงเทพมหานคร
         ในโอกาสนี้  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา โดยเสด็จในการนี้ด้วย

          จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังปราสาทประดิษฐานพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช  ทรงพระสุหร่าย
พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร  แล้วทรงถือสายสูตรยกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ขึ้นกางกั้นเหนือพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช   ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรขึ้นใหม่

          ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดระบบควบคุมการตีระฆังฝรั่งสามใบเถา หอระฆังยอดมงกุฎ  ซึ่งหอระฆังยอดมงกุฎเป็นหอระฆังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยาม
เทวมหามกุฏวิทยมหาราช ผู้ทรงสถาปนาพระอาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น  

          หอระฆังยอดมงกุฎ มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานกันระหว่างตะวันตกและไทยประเพณี อันเป็นเอกลักษณ์ของสมัยรัตนโกสินทร์  ส่วนยอดของหอระฆัง เป็นกุฎาคาร “ยอดมงกุฎ” หมายถึง พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช  มีระฆังใบใหญ่ที่จารึกพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เป็นภาษาอังกฤษ  ทั้งนี้  เนื่องในโอกาสสถาปนาพระอารามครบ 150 ปี วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ร่วมกับกรมศิลปากร  ได้จัดโครงการบูรณปฏิสังขรณ์หอระฆังยอดมงกุฎ และหล่อระฆังทดแทนลูกเดิมที่ชำรุด  ณ โรงหล่อระฆัง Whitechapel Bell Foundry ซึ่งเป็นโรงหล่อระฆังเดิมที่หล่อเมื่อครั้งแรกสร้างในปีพุทธศักราช 2404 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร  พร้อมกับนำเทคโนโลยีการตีระฆังแบบอัตโนมัติของสหราชอาณาจักรมาประยุกต์กับระเบียบวิธีการตีระฆังแบบไทย  โดยได้รับความร่วมมือในการประดิษฐ์ระบบจากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  นับเป็นการอนุรักษ์การตีระฆังอย่างไทยโบราณให้คงอยู่  

ข่าวประชาสัมพันธ์และกิจกรรมอื่นๆ