พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา

วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2566
ระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา พุทธศักราช 2565 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง

วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๘.๐๑ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินในการ
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา พุทธศักราช ๒๕๖๕ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง

ความสำคัญและความเป็นมาพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา

     วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ทางจันทรคติ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเพราะเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนถือเป็นประเพณีสำคัญในการบำเพ็ญกุศล

     ส่วนราชประเพณีนั้น พระมหากษัตริย์ได้ทรงปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ต่อมา ได้ว่างเว้นไป ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มีพระราชดำริร่วมกับสมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหาธาตุ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ฟื้นฟูการบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดยโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และโปรดให้บอกบุญแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ช่วยกันจัดตกแต่งโต๊ะหมู่ โคมเทียน และต้นเทียน จัดดอกไม้สดตั้งและแขวนประดับตามศาลาราย พระระเบียง และกำแพงแก้วพระอุโบสถ การพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา แบ่งเป็น ๒ วัน คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าและข้าราชการฝ่ายหน้า และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในและข้าราชบริพารฝ่ายใน

     ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพุทธรัตนสถานขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน์ และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชกุศลวิสาขบูชาของฝ่ายในที่พุทธรัตนสถาน จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รวมการพระราชกุศลวิสาขบูชาทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในเข้าด้วยกัน ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชาเป็นพระราชพิธีต่อเนื่องกัน ๒ วัน คือ วันแรก วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เป็นพระราชพิธีทรงตั้งเปรียญ และวันที่ ๒ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เป็นพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา

     วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ทางจันทรคติ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเพราะเป็นวันคล้ายประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนถือเป็นประเพณีสำคัญในการบำเพ็ญกุศล


พระราชพิธีทรงตั้งเปรียญ

     เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา เมื่อมีพระภิกษุสามเณรที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมสอบไล่ได้เปรียญธรรมประโยคต่าง ๆ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีพระราชทานพัดยศแก่พระภิกษุสามเณรตามชั้นเปรียญที่สอบไล่ได้ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

     ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีทรงตั้งเปรียญในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้งนั้น สามเณรปลด กิตฺติโสภโณ (ต่อมาได้รับสถาปนาพระสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เป็นรูปแรกในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปีติโสมนัสมาก จึงโปรดให้จัดรถหลวงไปส่งสามเณรปลดถึงวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ทำให้เกิดธรรมเนียมโปรดให้จัดรถหลวงส่งพระภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ไปถึงวัดทุกรูป สืบมาถึงปัจจุบัน 

     ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีทรงตั้งเปรียญ พระราชทานพัดยศแก่พระภิกษุสามเณรเฉพาะที่สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ๖ ประโยค และ ๙ ประโยค ที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนพระภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค ๕ ประโยค ๗ ประโยค และ ๘ ประโยค โปรดให้สมเด็จพระสังฆราช ประทานพัดยศ ณ พระอุโบสถพระอารามที่สมเด็จพระสังฆราชประทับ นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราชบัณฑิตยสภาจัดประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่องใดที่ได้รับการตัดสินให้ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์พระราชทานในวันวิสาขบูชาเป็นราชประเพณีสืบต่อมาจนถึงสมัยปัจจุบัน


พระราชพิธีทรงตั้งเปรียญ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

     พระราชพิธีทรงตั้งเปรียญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีรายละเอียด ดังนี้ 
    เวลา ๑๗ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จขึ้นชานหน้าพระอุโบสถ ผู้อำนวยการกองพระราชพิธี กราบบังคมทูลทรงพระราชอุทิศเทียนรุ่ง เทียนเดิน และธูป สำหรับบูชาพระรัตนตรัยในวันวิสาขบูชาและวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า (คือวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ หลังวันวิสาขบูชา ๘ วัน) แก่พระอารามหลวง จำนวน ๗ พระอาราม ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วัดบรมนิวาส และวัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อทรงพระสุหร่ายและทรงเจิมธูปเทียนที่ทรงพระราชอุทิศแล้ว เสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่บูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วทรงยืนประเคนผ้าไตร  สัญญาบัตร และพัดยศเปรียญธรรม ๙ ประโยค และเปรียญธรรม ๖ ประโยค แก่พระภิกษุ สามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค และ ๖ ประโยค ส่วนผ้าไตร สัญญาบัตร และพัดยศเปรียญธรรม ๓ ประโยค โปรดให้สมเด็จพระสังฆราชประทาน ขณะนั้นพระสงฆ์ จำนวน ๑๐ รูป เจริญชัยมงคลคาถา จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเงินรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เสร็จแล้วทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแก่พระสงฆ์  พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เสด็จพระราชดำเนินกลับ

    วันนี้แต่งกาย เครื่องแบบปกติขาว


พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

     เวลา ๑๘ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองทิศบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระพุทธรูปสำคัญ แล้วเสด็จออกชานหน้าพระอุโบสถ ผู้อำนวยการกองพระราชพิธี ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเทียน ทรงจุดไฟจากโคมไฟฟ้า (ไฟซึ่งจุดจากพระแว่นสูรยกานต์ซึ่งเป็นแว่นขยายแรงสูงที่รวมแสงไปจุดที่ไส้เทียนให้ลุกเป็นไฟ) แล้วพระราชทานแก่เจ้าหน้าที่เชิญไปถวายแก่เจ้าอาวาสพระอารามหลวงที่ได้รับพระราชทานเทียนรุ่ง เทียนเดิน และธูปทรงพระราชอุทิศไปจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วผู้อำนวยการกองพระราชพิธีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเทียนชนวน ทรงจุดไฟจากโคมไฟฟ้าแล้วทรงถือเทียนนั้นไว้ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี และข้าราชการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทขอพระราชทานต่อเทียนสำหรับบูชาพระรัตนตรัยและเวียนเทียน เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงนำสวดสรรเสริญพระรัตนตรัย จบแล้ว ทรงถือโคมเทียนทรงพระดำเนินประทักษิณพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี และข้าราชการ รอบพระอุโบสถภายในกำแพงแก้ว ครบ ๓ รอบ เสร็จแล้วเสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงโปรยดอกมะลิที่ธรรมาสน์ศิลา พระราชาคณะที่จะถวายธรรมเทศนาขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ศิลา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจุดธูปเทียนดูหนังสือเทศน์พระราชทานแก่เจ้าพนักงานเชิญไปตั้งที่ธรรมาสน์ศิลา แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม (เครื่องทองน้อย เครื่องห้า) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม (เครื่องทองน้อย) พระราชาคณะถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ จบแล้ว พระราชาคณะถวายอนุโมทนาบนธรรมาสน์ศิลา พระสงฆ์ จำนวน ๔ รูป สวดรับอนุโมทนา พระราชาคณะที่ถวายพระธรรมเทศนาลงมานั่งยังอาสน์สงฆ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประเคนเครื่องไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ และทรงประเคนสบงถวายแก่พระสงฆ์ที่สวดรับอนุโมทนา พระราชาคณะถวายอดิเรกแล้วออกจากพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงกราบที่เครื่องนมัสการแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

     อนึ่ง หากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จแปรพระราชฐานประทับนอกกรุงเทพมหานคร โปรดเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ วัดใกล้พระราชฐานที่ประทับ ส่วนพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชาที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชวงศ์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์

     บางคราวพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ ปูชนียสถานสำคัญในต่างจังหวัด ได้แก่ วัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เป็นต้น ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลร่วมกับราษฎรในท้องถิ่น

     การแต่งกายในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชาตามราชประเพณีในรัชกาล ก่อนๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์จะทรงพระภูษาแดง ฉลองพระองค์ขาวแบบปกติ ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ส่วนข้าราชการแต่งกายเครื่องแบบปกติขาว

นางสาวเพลินพิศ กำราญ เรียบเรียง