พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร

      เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๔ คณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการ ฯ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการ ฯ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการ ฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการต่าง ๆ ได้แก่ สำนักพระราชวัง สำนักงานองคมนตรี สำนักงาน กปร. กรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมกิจการพลเรือนทหารบก กองทัพภาคที่ ๒ กรมทรัพยากรน้ำ และกรมป่าไม้ ได้ดำเนินการสนองพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเดินทางไปติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ดังนี้

๑. โครงการปรับปรุงทำนบดินพร้อมอาคารประกอบอ่างเก็บน้ำภูเพ็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
   ความเป็นมา: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแส เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๐ เกี่ยวกับการตรวจสอบสภาพอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดสกลนคร จำนวน ๒๒ แห่ง ความว่า “น่าจะหาวิธีการดำเนินการกับ ๒๒ อ่าง ที่เฝ้าระวังให้ดี เช่น การปรับปรุงให้ปลอดภัยและสภาพดีขึ้น” โดยอ่างเก็บน้ำภูเพ็กเป็น หนึ่งใน ๒๒ อ่างดังกล่าว ซึ่งกรมชลประทานได้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว
   ลักษณะโครงการ: ความยาวอ่างเก็บน้ำ ๕๓๐ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๖ เมตร สูง ๑๒ เมตร ความจุเก็บกักน้ำ ๒.๗ ล้านลูกบาศก์เมตร (ปริมาณน้ำปัจจุบัน ๖๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ ๒๒) สามารถส่งน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในฤดูฝน ๑,๐๐๐ ไร่ ฤดูแล้ง ๑๐๐ ไร่
   ผลการดำเนินงาน: กรมชลประทานได้ดำเนินการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำภูเพ็ก ฯ แล้วเสร็จ ประกอบด้วย การขุดลอกอ่างเก็บน้ำให้มีความจุเต็มศักยภาพ ซ่อมแซมหินเรียงป้องกันการกัดเซาะบริเวณลาดตลิ่ง ก่อสร้างอาคารระบายน้ำล้นฉุกเฉิน ระบายได้สูงสุด ๑๐๖.๙๑ ลูกบาศก์เมตร/วินาที และปรับปรุงเพิ่มระดับทำนบดินขึ้นอีก ๑.๘ เมตร
ทั้งนี้ อนุกรรมการ ฯ มีข้อเสนอแนะว่า ปีนี้ฤดูฝนอาจมาเร็วกว่าปรกติ อาจมีปริมาณน้ำมาก ประกอบกับจังหวัดสกลนครมีลุ่มน้ำเป็นจำนวนมาก จึงขอให้บริหารจัดการน้ำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำหลากหรืออุทกภัย

๒. โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

      ความเป็นมา: พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง – น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ดังนี้
–     เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ มีพระราชดำริ ความว่า “..เนื่องจากเดิมน้ำในลำห้วยน้ำพุง ไหลลงลำน้ำก่ำ ด้านติดกับหนองหารทางหนึ่ง และไหลแยกออกไปทางด้านทิศตะวันตก ลงหนองหารอีกทางหนึ่ง แต่ปัจจุบันห้วยน้ำพุงด้านที่ลงลำน้ำก่ำมีสภาพตื้นเขิน เป็นเหตุให้ในช่วงฤดูฝน น้ำจากห้วยน้ำพุงไหลออกทางด้าน ลำห้วยสาขาต่าง ๆ ทางฝั่งขวา (บริเวณด้านติดต่อระหว่างอำเภอเมืองสกลนครกับอำเภอโคกศรีสุพรรณไปลง ลำน้ำก่ำ) ซึ่งมีระดับสูงเช่นเดียวกัน จึงเกิดสภาพน้ำเอ่อขึ้นท่วมพื้นที่เพาะปลูก จนเกิดความเสียหายแก่ผลผลิต ของราษฎร จึงควรพิจารณาดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของห้วยน้ำพุง อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร…”

–     เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ มีพระราชดำริ ความว่า “…ควรพิจารณาวางโครงการขุดลอก ลำห้วยต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน เช่น ห้วยร่องช้างเผือก ห้วยชัน และควรขุดคลองต่อเชื่อมกับหนองน้ำธรรมชาติต่าง ๆ พร้อมก่อสร้างอาคารบังคับน้ำให้สามารถระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่เพาะปลูกไปลงลำน้ำก่ำ ได้สะดวกในฤดูฝน และรับน้ำจากห้วยน้ำพุงผ่านลำห้วยร่องช้างเผือกและลำห้วยอื่น ๆ เข้าเก็บในหนองน้ำต่าง ๆ เพื่อให้ราษฎรได้ใช้ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง…”
จากนั้น เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจุดที่จะทำการก่อสร้าง งานประตูระบายน้ำหัวงานและอาคารประกอบโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ ฯ โดยมีข้อเสนอแนะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการขุดคลองลัดตามลำน้ำก่ำให้ตัดตรง เพื่อลดระยะทางและเวลาในการไหลของน้ำในฤดูน้ำหลาก จะทำให้สามารถบรรเทาอุทกภัยในบริเวณดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
     ผลการดำเนินงาน: กรมชลประทาน มีแผนดำเนินงานโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ ฯ ระยะเวลา ๕ ปี (๒๕๖๒ – ๒๕๖๖) ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานรวมทั้งโครงการร้อยละ ๑๙.๖๖ งบประมาณ รวมทั้งสิ้น ๒,๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ประกอบด้วย
      ๑. ประตูระบายน้ำหัวงานและอาคารประกอบ จำนวน ๕ ช่อง อัตราการระบายน้ำสูงสุด ๕๕๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระยะเวลาดำเนินการ ๔ ปี (๒๕๖๒-๒๕๖๕) ปัจจุบันดำเนินการแล้วร้อยละ ๓๖.๘๑
      ๒. คลองผันน้ำร่องช้างเผือก-ห้วยยาง ระยะทาง ๑๘.๔๒ กิโลเมตร อัตราการระบายน้ำสูงสุด ๔๒ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระยะเวลาดำเนินการ ๓ ปี (๒๕๖๒-๒๕๖๔) ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ
      ๓. คลองผันน้ำห้วยยาง-ลำน้ำก่ำ ระยะทาง ๔.๔๗ กิโลเมตร อัตราการระบายน้ำสูงสุด ๑๕๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ
      ๔. คลองผันน้ำหนองแซง-ห้วยชัน-ห้วยยาง ระยะทาง ๑๖ กิโลเมตร อัตราการระบายน้ำสูงสุด ๑๐๘ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแผนดำเนินโครงการในปี ๒๕๖๖ ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบ
      ๕. คลองผันน้ำห้วยทามไฮ-ห้วยสองตอน ระยะทาง ๘.๘๐ กิโลเมตร อัตราการระบายน้ำสูงสุด ๓ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแผนดำเนินโครงการในปี ๒๕๖๖ ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบ
      ๖. ระบบส่งน้ำชลประทาน ความยาวรวมประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร พื้นที่รับประโยชน์ ๗๘,๐๐๐ ไร่ มีแผนดำเนินโครงการในปี ๒๕๖๖ ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบ
      ๗. อาคารชลประทานตามแนวคลองผันน้ำ ระยะเวลาดำเนินการ ๓ ปี (๒๕๖๓-๒๕๖๕) ปัจจุบันดำเนินการแล้วร้อยละ ๑๐.๒๙
     ประโยชน์ที่ได้รับ: สามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตอำเภอเมืองสกลนคร และอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ตัดยอดน้ำจากลำน้ำพุงก่อนไหลลงสูหนองหาร ได้ร้อยละ ๔๐ และผันน้ำลงลำน้ำก่ำ เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่หนองหาร เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในลำน้ำพุงและลำน้ำก่ำ สามารถส่งน้ำเพื่อใช้อุปโภคบริโภค และสนับสนุนการเกษตร ช่วยเหลือราษฎรได้ ๑๐,๘๕๗ ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ ๗๘,๓๕๘ ไร่

News and ActivitiesOther