ต้นขนุนไพศาลทักษิณ

พระที่นั่งภัทรบิฐ

พระที่นั่งภัทรบิฐ ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

     หมู่พระมหามณเฑียรที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างขึ้นเป็นหมู่แรก ในพระบรมมหาราชวัง อันมีพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งเป็นพระวิมานที่บรรทมของสมเด็จพระมหา กษัตริยาธิราชเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระที่นั่งองค์นี้ ตามพระราชนิติธรรมประเพณี เมื่อพระมหากษัตริย์ที่เสด็จขึ้นครองราชย์แต่ยังมิได้ทรงรับบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี จะไม่เสด็จประทับใน พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นอันขาด ต่อเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ บรมราชาภิเษกตามโบราณ ราชประเพณีแล้ว จึงจะเสด็จขึ้นประทับได้ โดยจะต้องจัดให้มีการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรต่อเนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
     ในสมัยโบราณกาลเมื่อเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียรแล้วก็จะประทับเป็นประจำ กาลต่อมา เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงสถาปนาพระราชฐานที่ประทับแห่งใหม่แล้ว ก็จะเสด็จแปรพระราชฐาน ไปประทับยังพระราชฐานแห่งใหม่ตามพระราชอัธยาศัย
     พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นพระที่นั่งต่อเนื่องกับท้องพระโรงหน้า พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทางด้านเหนือ ทอดยาวจากทิศตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตก ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญ ๓ อย่าง
     ตอนกลางองค์พระที่นั่งตรงพระทวารเทวราชมเหศวร เป็นพระวิมานประดิษฐาน “พระสยามเทวาธิราช” ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาติ และเป็นปูชนียวัตถุที่สมเด็จพระมหากษัตริยา ธิราชเจ้าทรงเคารพสักการะอย่างยิ่ง
     ด้านตะวันออกตรงหน้าพระทวารระเบียงหอพระสุลาลัยพิมาน ประดิษฐานพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ กางกั้นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นที่ประทับรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชูปโภคอันเป็นโบราณมงคล พระแสงราชศาสตราวุธและพระแสงอัษฎาวุธ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
     ในอดีต เมื่อพระมหากษัตริย์ประทับ ณ หมู่พระมหามณเฑียรแห่งนี้ ก็จะทรงใช้พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นที่บรรทม และทรงใช้พระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่ประทับทรงพระสำราญ หรือประกอบพระราชกรณียกิจเป็นการส่วนพระองค์ หรือบางโอกาสก็เสด็จออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการภายใน

     ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นกาลเวลาที่พระองค์ทรงพระชราภาพมากแล้ว และทรงห่วงใยในราชการแผ่นดิน พระองค์จึงได้เสด็จออกมาบรรทมอยู่ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้านทิศตะวันออก ทุกเวลาเช้าก็ได้เสด็จออกประทับ ณ ช่องพระบัญชร โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลถวายข้อราชการ อยู่ที่ชาลาข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันตก

     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ กันยายน ๒๓๕๒ เวลา ๐๓.๒๘ นาฬิกา

     เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถนั้น ได้มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยตั้งพระมณฑปพระกระยาสนานสรงพระมุรธาภิเษก ที่พระลานข้างท้องพระโรงหน้า พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานด้านตะวันออก เสด็จออกรับการถวายน้ำอภิเษก เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชาภรณ์ เครื่องบรมราชูปโภค พระแสงอัษฏาวุธ ตลอดจนรับการถวายนพปฏลมหาเศวตฉัตร ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ และทรงประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ตามราชประเพณี สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ต้นขนุนไพศาลทักษิณ

ต้นขนุนไพศาลทักษิณ

ผลขนุนไพศาลทักษิณ

ผลขนุนไพศาลทักษิณ

     ภายนอกองค์พระที่นั่งไพศาลทักษิณด้านตะวันตกติดกำแพงหน้าหอพระธาตุมณเฑียรตรงข้ามกับเก๋งนารายณ์ ก่อปูนเป็นขอบทาสีขาว สูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ปลูกต้นขนุนไว้ ๑ ต้น ใบเขียวมันเป็นพุ่ม ให้ผลขนุนต้องตามฤดูกาล ผลขนุนกลมเล็กเปลือกนอกเป็นหนามถี่ สีเหลือเข้ม ภายในมีซังเป็นเส้นฝอย หุ้มยวง ขนุนสีเหลืองรสหวานกรอบ ชาววังเรียกต้นขนุนนี้ว่า “ขนุนไพศาล”

     ต้นขนุนต้นนี้มีประวัติความเป็นมายาวนานอย่างน่าอัศจรรย์ ควรเป็นตำนานที่น่ารู้แก่อนุชนรุ่นหลังเป็นอย่างยิ่ง
     เจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ ๔ เป็นธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) เจ้าจอมมารดาเที่ยง เป็นพี่สาวร่วมมารดาเดียวกับเจ้าจอมมารดาชุ่ม ซึ่งเป็นพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

     เจ้าจอมมารดาเที่ยง รับราชการเป็นบาทบริจาริกา พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชโอรสและพระราชธิดาถึง ๑๐ พระองค์ พระราชธิดาพระองค์สุดท้าย ทรงพระนาม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพวงสร้อยสอางค์ (ชาววังขนานพระนามว่า เสด็จพระองค์สร้อย)

     หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล พระธิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานเล่าให้ฟังว่า “คุณย่าเที่ยงได้รับพันธุ์ต้นขนุนต้นนี้มาจากญาติ” จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตปลูกไว้ภายนอกองค์พระที่นั่งไพศาลทักษิณด้านตะวันตก ระหว่างมุมกำแพงหน้าหอพระธาตุมณเฑียร คุณย่าเที่ยงได้ทำนุบำรุงรดน้ำพรวนดินตลอดมา เมื่อใดมีพระราชพิธีกาลานุกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทักษิโณฑกแล้ว คุณย่าเที่ยงจะเชิญน้ำจากพระเต้าทักษิโณฑกมาจำเริญใต้ต้นขนุนนี้เป็นประจำมิได้ขาด และเมื่อคุณพนักงานหอเฝ้าลาเครื่องสังเวยพระสยามเทวาธิราชแล้ว จะนำน้ำดื่มจากเครื่องสังเวยมาจำเริญใต้ต้นขนุนนี้เช่นกัน ด้วยบุญญานุภาพที่ต้นขนุนต้นนี้ได้รับน้ำจากพระเต้าทักษิโณฑก และน้ำดื่มจากพิทักษ์ปกป้องคุ้มครองอันตราย ให้เจริญงอกงามยืนต้นแข็งแรงมาจนถึงปัจจุบัน ดังพูนพิสมัย ดิศกุล ว่า “แม่เป็นคนปลูก มีอายุยืนจริง”
      ต้นขนุนไพศาลทักษิณต้นนี้มีอายุยืนยาวมาถึงรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้งานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำการวิจัยเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์พระราชทานให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทและข้าราชบริพารนำกล้าที่เพาะไปปลูกยังเคหะสถานของตน