เรื่องเล่าในวัง

เรื่องเล่าในวัง

      วัง วัด บ้าน นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้สถาปัตยกรรมประจำชาติ ยังเป็นต้นกำเนิด จารีต ประเพณีที่บ่งบอกความเป็นชาติที่รุ่งเรืองมายาวนาน แบบแผนจากพระราชวังผสมผสานด้วยความเชื่อที่ยึดมั่นในศรัทธาแห่งพระพุทธศาสนา คือ รากฐานศีลธรรม ย่อมเป็นกรอบทิศทางที่หล่อหลอมนำทางสังคมไทยให้มีวัฒนธรรมที่ดีงาม ถ่ายทอดเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยด้วยกัน
      เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังในขณะนั้น มีความประสงค์ให้มีการบันทึกเรื่องราวต่างๆในเขตพระราชฐาน ในพระบรมมหาราชวัง จึงดำริให้นายเกรียงไกร วิศวามิตร์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน กองวัง สำนักพระราชวัง ผู้มีความรู้ความสามารถทางประวัติศาสตร์ในการถ่ายทอดบรรยายเรื่องราวในพระบรมมหาราชวังเป็นอย่างดี ได้เรียบเรียงบทความเกี่ยวกับประวัติ สถานที่ บุคคล เหตุการณ์ ตลอดทั้งราชประเพณีในพระบรมมหาราชวังยุคต่างๆ ขึ้นไว้ เพื่อให้เป็นสิ่งที่น่าศึกษา นายเกรียงไกร วิศวามิตร์ จึงได้เรียบเรียงเรื่องราวในพระบรมมหาราชวังทั้งที่ศึกษาค้นคว้า รวมถึงได้รับฟังคำบอกเล่าจาก เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ อีกทั้งอดีตคุณข้าหลวงในวังหลวงที่ยังใช้ชีวิตในห้วงเวลานั้นที่ยังมีความทรงจำเรื่องต่างๆได้ดี ก็ได้บอกเล่าแก่คุณเกรียงไว้มากมายหลายเรื่อง จนคุณเกรียงเป็นแหล่งความรู้เรื่องในวังชั้นเยี่ยม คุณเกรียงไกรจึงนำเรื่องที่ได้รับฟังจากคำบอกเล่า รวมถึงการศึกษาค้นคว้าเรื่องต่างๆเพิ่มเติมนำมารวมไว้เพื่อเผยแพร่ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์พระบรมราชจักรีวงศ์ สะท้อนให้เห็นความยั่งยืนทางวัฒนธรรมของชาติ เนื่องจากมีหลากหลายเนื้อหาสาระ จึงจัดเป็นหมวดหมู่และลำดับเรื่องไว้ตามกาลเวลา เพื่อสะดวกแก่การค้นคว้า ชื่อว่า “เรื่องเล่าในวัง”
      เรื่องเล่าในวัง ผู้เขียนได้เรียบเรียง เล่าเรื่องไว้เพื่อให้อ่านได้เข้าใจง่าย การเล่าเรื่อง จะดำเนินเรื่องมาแต่ครั้งอดีต สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ได้ อรรถรส เห็นภาพตามที่ผู้เขียนได้เรียบเรียงไว้ เสมือนผู้อ่านได้เข้าไปย้อนยุคในเรื่องต่างๆนั้นด้วยตนเอง ภาษาที่ใช้ เรียบง่าย มีพลังชวนให้ติดตาม เรื่องราวจนไม่อยากให้จบตอนเลย

      หน่วยราชการในพระองค์เห็นสมควรให้นำเรื่องเล่าในวังมาถ่ายทอดลงบนสื่อเว็บไซด์ของหน่วยราชการในพระองค์ เพื่อเผยแผ่ให้ได้เกิดความรักและเข้าใจในศิลปะ ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมอันดีงามของราชสำนักไทย เพื่อถ่ายทอดให้เป็นความรู้สืบไป เรื่องเล่าในวังเรียบเรียงไว้ทั้งหมด ๗ หมวด คือ หมวดสถานที่ หมวดบุคคล หมวดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา หมวดประเพณี หมวดเบ็ดเตล็ด หมวดราชูปโภค หมวดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยหมวดแรกที่ได้นำมาเสนอนี้ จากหมวดสถานที่ ซึ่งมี ๔ ตอนด้วยกัน คือ

  • ก๊อกน้ำประปาในเขตพระราชฐานชั้นใน
  • โรงเรียนช่างฝีมือในวัง(หญิง)
  • พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหราฬ
  • สวนขวา

ทั้งนี้จะได้นำเสนอคราวละเรื่อง จนกว่าจะครบทุกหมวดต่อไป

ก๊อกน้ำประปาในเขตพระราชฐานชั้นใน
     สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชวงศ์ฝ่ายในที่มีตำหนักเป็นที่ประทับในบริเวณเขตพระราชฐานชั้นในนั้น ได้อาศัยน้ำฝนซึ่งรองเก็บไว้ในโอ่งมังกรหรือโอ่งดิน ผูกผ้าขาวบางปิดไว้ สำหรับใช้เสวยได้นานวัน ส่วนน้ำใช้ทั่วไปได้อาศัยน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านท่อน้ำใหญ่ในพื้นดินตามถนนผ่านหน้าตำหนักและเรือนแถว ๒ ชั้น ชีวิตของชาววังมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายตามธรรมชาติในยุคนั้น

แนวท่อน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา

แนวท่อน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา

      ความเป็นมาของการประปา (Waterworks) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปถึง ๒ ครั้งนั้น พระองค์ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรการประปาในประเทศตะวันตกเพื่อนำมาเป็นแบบอย่างการประปาในพระมหานคร และเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่พสกนิกรของพระองค์ ให้ได้บริโภคน้ำสะอาดปราศจากเชื้อโรคเพื่อสุขภาพอนามัย

ก๊อกน้ำประปา

ก๊อกน้ำประปา

       เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากทวีปยุโรปครั้งที่ ๒ ในพุทธศักราช ๒๔๕๐ กาลต่อมา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสั่งให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นแม่กองดำเนินการก่อสร้างการประปาขึ้นในพระมหานคร ตลอดทั้งระบบติดตั้งการส่งน้ำในเขตพระราชฐานชั้นในด้วย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

หมายเหตุ: เรื่องก๊อกน้ำประปา คุณเกรียงไกรฯ ได้เรียบเรียงไว้เพียงสั้นๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงพระประวัติของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ได้ทรงทำประโยชน์ ด้านศิลปกรรมและวัฒนธรรมไว้มากมาย จึงขอเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนของพระราชประวัติดังต่อไปนี้
   พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (28 เมษายน พ.ศ. 2406 – 10 มีนาคม พ.ศ. 2490) มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย เมื่อวันอังคารเดือน 6 ขึ้น 11 ค่ำ ปีกุน เบญจศก จ.ศ. 1225 ตรงกับวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2406 และได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระชนกนาถโดยมีพระราชหัตถเลขา ดังนี้

“สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามผู้พระบิดา ขอตั้งนามบุตรชายที่ประสูติจากหญิงแฉ่พรรณรายผู้มารดา ในวันอังคาร เดือน 6 ขึ้น 11 ค่ำ ปีกุนเบญศกนั้นว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ สิงหนาม ขอจงมีความเจริญชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ ศุภสารสมบัติ สุวรรณหิรัญรัตนยศบริวารศฤงคารศักดานุภาพ ตระบะเดชพิเศษคุณสุนทรศรีสวัสดิ พิพัฒนมงคลพิบุลยผลทุกประการ เทอญ”

    เมื่อครั้งที่สมเด็จพระชนกนาถสวรรคต พระองค์มีพระชันษาเพียง 5 ปี แต่ทรงจำถึงตอนหนึ่งว่า “สมเด็จพระราชบิดาทรงประทับนั่งที่เก้าอี้ที่หมุนได้ ทรงฉลองพระองค์สีแดงสด”

    ในปี พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาให้ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษ นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชดำริว่า หม่อมเจ้าพรรณราย พระมารดาในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษนั้น นับเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระขนิษฐาร่วมพระชนกในสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี (สมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ดังนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษจึงมีพระอัยการ่วมกับพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการสถาปนา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษ ขึ้นเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงษ พร้อมกันนี้ทรงสถาปนาพระเชษฐภคินีในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงษ ขึ้นเป็น พระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยา ด้วย 

 

     นอกจากนี้พระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 หลังจากที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนาบดีกระทรวงพระคลัง เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ผู้บัญชาการทหารเรือ จนกระทั่งได้รับพระราชทานพระยศเป็น พลโท เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริเห็นควรที่จะสถาปนาให้ดำรงพระอิสริยยศที่ “กรมหลวง” ได้ กอปรกับการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ซึ่งเป็นพระโสทรานุชา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงษขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัตติวงษ์ เมื่อ ปี พ.ศ. 2448

    เมื่อ พ.ศ. 2452 พระองค์ประชวรด้วยโรคพระหทัยโต ขณะที่ยังทรงรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง จึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ทรงขอ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแม้ด้วยพระโรคที่พระองค์เป็นอยู่นั้นไม่เอื้ออำนวยให้พระองค์สามารถรับราชการในตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ได้ แต่ก็ยังคงรับราชการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงออกแบบงานต่าง ๆ ตามพระราชประสงค์ เช่น พระโกศพระบรมอัฐิและพระวิมานทองคำลงยาราชาวดี สำหรับประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว    เป็นต้น ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเลื่อนกรมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัตติวงษ์ขึ้นเป็น กรมพระ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ มหามกุฏพงศ์นฤบดินทร ปรมินทรานุชาธิเบนทร์ ปรเมนทรราชปิตุลา สวามิภักดิ์สยามวิชิต สรรพศิลปสิทธิวิทยาธร สุรจิตรกรศุภโกศล ประพนธปรีชาชาญโบราณคดี สังคีตวาทิตวิธีวิจารณ์ มโหฬารสีตลัธยาศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณานุวัติ ขัตติยเดชานุภาพบพิตร

นายพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ พระองค์ทรงเป็นเสนาบดีหลายกระทรวง ประกอบไปด้วย กระทรวงโยธาธิการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงกลาโหม กระทรวงวัง ทั้งยังดำรงตำแหน่งองคมนตรีและรัฐมนตรีสภา และสมาชิกสภาการคลัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นอภิรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2475

     ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน อุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกศิลปากร และพระองค์ยังได้รับการแต่งให้ให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการพระราชวงศ์ มีหน้าที่สนองพระเดชพระคุณในพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชวงศ์พระองค์ใดที่มีกิจที่ไม่ต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาก็ให้ติดต่อกราบบังคมทูลต่อพระองค์แทน นอกจากนี้ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จยังต่างประเทศ พระองค์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ พระองค์จึงพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2488 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจึงมีพระบรมราชโองการให้เลื่อนเป็นกรมพระยา มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ มหามกุฎพงศนฤบดินทร์ ปรมินทรานุชาธิเบนทร์ อัฐเมนทรราชอัยยกา สวามิภักดิ์สยามวิชิต สรรพศิลปสิทธิวิทยาธร สุรจิตรกรศุภโกศล ประพนธปรีชาชาญโบราณคดี สังคีตวาทิตวิธิวิจารณ์ มโหฬารสีตลัธยาศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณานุวัตน์ ขัตติยเดชานุภาพบพิตร ทรงศักดินา 50000 ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่กับงานศิลปะและวิทยาการจนพระกำลังพระปัญญาเสื่อมลงไป ด้วยทรงพระชราด้วยโรคภัยเบียดเบียน คือ โรคพระหทัยโต หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคเส้นพระโลหิตแข็ง วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2490 จึงสิ้นพระชนม์โดยสงบ ขณะมีพระชันษาได้ 83 ปี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯให้มีการจัดพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2493 โดยใช้พระเมรุองค์เดียวกับพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐม รามาธิบดินทร

ด้านศิลปกรรม

งานสถาปัตยกรรมที่โปรดทำมากคือ แบบพระเมรุ โดยตรัสว่า “เป็นงานที่ทำขึ้นใช้ชั่วคราวแล้วรื้อทิ้งไป เป็นโอกาสได้ทดลองใช้ปัญญาความคิดแผลงได้เต็มที่ จะผิดพลาดไปบ้างก็ไม่สู้กระไร ระวังเพียงอย่างเดียวคือเรื่องทุนเท่านั้น”

ด้านสถาปัตยกรรม

พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เมื่อแรกสร้างอาคารเรียนโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร

  • การออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2442
  • การออกแบบก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรเริ่มก่อสร้างเมื่อ วันที่ 4 มิถุนายน รัตนโกสินทรศก 121 (พ.ศ. 2445) หรือ ร.ศ. 121

งานด้านสถาปัตยกรรมเป็นงานที่พระองค์ทรงพิถีพิถันอย่างมาก เพราะตรัสว่า “ต้องระวังเพราะสร้างขึ้นก็เพื่อความพอใจ ความเพลิดเพลินตา ไม่ใช่สร้างขึ้นเพื่ออยากจะรื้อทิ้ง ทุนรอนที่เสียไปก็ใช่จะเอาคืนมาได้ ผลที่สุดก็ต้องทิ้งไว้เป็นอนุสาวรีย์สำหรับขายความอาย”

ด้านภาพจิตรกรรมภาพเขียน

  • ภาพเขียนสีน้ำมันประกอบพระราชพงศาวดาร แผ่นดินพระเจ้าท้ายสระครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นภาพช้างทรงพระมหาอุปราชแทงช้างพระที่นั่ง ภาพเขียนรถพระอาทิตย์ที่เพดานพระที่นั่งภานุมาศจำรูญ (พระที่นั่งบรมพิมาน)
  • ภาพประกอบเรื่องธรรมาธรรมะสงคราม
  • ภาพแบบพัดต่าง ๆ

ด้านออกแบบ

  • ออกแบบตรากระทรวงต่าง ๆ
  • อนุสาวรีย์ทหารอาสา
  • อนุสาวรีย์สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
  • อุทกทาน(องค์พระธรณีบีบมวยผมที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา)
  • พระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า
  • พระเมรุมาศและพระเมรุของพระบรมวงศ์หลายพระองค์
  • พระพุทธไสยาสน์ประดิษฐาน ห้องกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ตึกไชยันต์ โรงเรียนวัดราชาธิวาส สร้างอุทิศถวายและบรรจุพระอัฐิ และพระอังคาร ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย

ด้านวรรณกรรม

“พระสุริโยทัยขาดคอช้าง” จิตรกรรมประกอบโคลงพระราชพงศาวดาร ฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น โคลงประกอบภาพจิตรกรรมภาพพระราชพงศาวดาร โคลงประกอบเรื่องรามเกียรติ์ ทรงพระนิพนธ์เมื่องานฉลองพระนครครบรอบร้อยปี, ลายพระหัตถ์โต้ตอบประทานบุคคลต่างๆ เช่น จดหมายเวรโต้ตอบกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลายพระหัตถ์ประทานความรู้ในลักษณะจดหมายโต้ตอบพระสารประเสริฐและพระยาอนุมานราชธน เรื่องภาษาและประเพณี ลายพระหัตถ์โต้ตอบเหล่านี้ เป็นเหมือนคลังความรู้สำหรับผู้สนใจใฝ่ศึกษาค้นคว้าทั่วไป

ด้านดุริยางคศิลป์และนาฏศิลป์

ทรงสนพระทัยทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล โดยเฉพาะดนตรีไทยนั้นทรงฝึกฝนมาแต่พระเยาว์ ทรงถนัดเล่นปี่พาทย์และระนาดมากกว่าเครื่องดนตรีอื่น ๆ

เพลงพระนิพนธ์

  1. เพลงสรรเสริญพระบารมี(คำร้อง)
  2. เพลงเขมรไทรโยค
  3. เพลงตับเช่น ตับแม่ศรีทรงเครื่อง ตับเรื่องขอมดำดิน

ด้านบทละคร

ทรงนิพนธ์บทละครดึกดำบรรพ์ไว้หลายเรื่อง เช่น

  1. สังข์ทองตอนทิ้งพวงมาลัย ตีคลี และตอนถอดรูป
  2. คาวีตอนเผาพระขรรค์ ชุบตัว และตอนหึง
  3. อิเหนาตอนตัดดอกไม้ฉายกริช ไหว้พระ และตอนบวงสรวง
  4. รามเกียรติ์ตอน ศูรปนขา ตีสีดา

พระโอรสและพระธิดา

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุลจิตรพงศ์ มีหม่อม 3 ท่าน ได้แก่

  1. หม่อมราชวงศ์ปลื้ม(ราชสกุลเดิม: ศิริวงศ์) พระธิดาในพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้เป็นสะใภ้หลวง
  2. หม่อมมาลัย(สกุลเดิม: เศวตามร์) ธิดาพระสาครสมบัติ (เผือก เศวตามร์)
  3. หม่อมราชวงศ์โต(ราชสกุลเดิม: งอนรถ) ธิดาในหม่อมเจ้าแดง งอนรถ กับหม่อมวัน งอนรถ ณ อยุธยา โดยมีพระโอรส พระธิดารวมทั้งหมด 9 องค์ เป็นโอรส 5 พระองค์ และพระธิดา 4 พระองค์

ตอนต่อไปจะได้เสนอเรื่อง โรงเรียนช่างฝีมือในวัง(หญิง) ซึ่งมีความน่าสนใจชวนให้ติดตามอย่างพลาดไม่ได้