๑๐๗ ปีแห่งการถวายพระยศทหารโดยเสมอภาคกันระหว่างสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

๑๐๗ ปีแห่งการถวายพระยศทหารโดยเสมอภาคกันระหว่างสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

    ๑๐๗ ปี แห่งการถวายพระยศทหารโดยเสมอภาคกันระหว่างสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๑ อุบัติขึ้นในทวีปยุโรป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหฤทัยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม ต่อผู้ตกทุกข์ได้ยากจากภัยของมหายุทธสงคราม แม้ในระยะแรกประเทศสยามดำเนินนโยบายรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด แต่ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหลายพันปอนด์ เพื่อช่วยเหลือหญิงหม้ายและเด็กกำพร้า ผู้เป็นภรรยาและบุตรของทหารในกรมทหารราบเบาเดอรัมแห่งอังกฤษ ซึ่งอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร

   น้ำพระราชหฤทัยในครั้งนี้ ยังให้สมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ ทรงซาบซึ้งเป็นอย่างมาก จึงมีพระราชโทรเลข ฉบับลงวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๘ ทูลเชิญให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับพระยศเป็นนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกอังกฤษ ดังมีเนื้อความที่แปลเป็นภาษาไทยว่า

    “…เพื่อเป็นพยานแห่งความไมตรีของหม่อมฉัน และเพื่อเป็นที่ระลึกในการที่พระองค์ได้ทรงเกี่ยวข้องอยู่กับกองทัพบกอังกฤษ หม่อมฉันมีความปรารถนาขออัญเชิญให้พระองค์ทรงรับพระยศเป็นพลเอกพิเศษ และแม้พระองค์มีพระราชประสงค์จะทรงเครื่องยศทหารอังกฤษ ก็ขอให้ทรงเครื่องของกรมทหารราบเบาเดอรัม อันเป็นเหล่าซึ่งพระองค์ได้เคยทรงบังคับบัญชามาแล้วนั้นด้วยเถิด…”

     ทันทีในวันรุ่งขึ้น วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชโทรเลขทูลเชิญสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ ให้ทรงรับพระยศเป็นนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกสยาม เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำพระราชหฤทัย และมิตรไมตรีที่อังกฤษมีต่อสยาม นับเป็นครั้งแรกที่มีการแลกเปลี่ยนพระยศทางทหารอย่างทัดเทียมกัน ระหว่างประมุขของประเทศมหาอำนาจในยุโรปกับประมุขของประเทศในเอเชีย

     พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงถือว่าเกียรติยศที่ทรงได้รับ เป็นพระเกียรติยศส่วนพระองค์ หากแต่ทรงเห็นว่าเป็น “เกียรติยศของชาติ” และเป็นประจักษ์พยานในความเจริญแห่งกองทัพบกสยาม ดังความตอนหนึ่งของพระราชดำรัส ที่พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้า ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๘ ว่า

     “…เกียรติยศที่เราได้รับครั้งนี้ ไม่ควรจะถือเอาเป็นของส่วนตัวเราโดยจำเพาะ ต้องถือว่าเป็นพยานในความเจริญแห่งกองทัพบกสยาม ซึ่งผู้รับใช้เราไปจัดทะนุบำรุงขึ้นนั้น ได้ใช้ความอุตสาหวิริยภาพมิได้ย่อหย่อน จนบันดาลให้กองทัพบกของเราได้ถึงซึ่งความเจริญแล้วโดยอาการอันน่าสรรเสริญ จนพระราชาธิบดีอังกฤษทรงรู้สึกว่าการที่เราเชิญให้รับยศนายพลเอกพิเศษในกองทัพบกของเรานั้น เป็นสิ่งที่เพิ่มพูนพระเกียรติยศของพระองค์ได้ส่วนหนึ่ง และเมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาทหารบกของเรา จึ่งได้ช่วยกันยินดีในเกียรติยศซึ่งเราและทัพบกของเราได้รับครั้งนี้…”

     การถวายพระยศทหารชั้นสูงสุดแลกเปลี่ยนกันระหว่างสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะทำให้กองทัพบกสยามมีหน้ามีตายิ่งกว่ากองทัพใดๆ ในบูรพทิศแล้ว ยังทำให้ “ราคาไทยสูงขึ้นอีก” เพราะอังกฤษยุคนั้น ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในยุโรป ได้แสดงท่าทียอมรับทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยว่าประเทศสยามมีศักดิ์เสมอด้วยประเทศอารยะทั้งปวงนั่นเอง