เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “วันนวมินทรมหาราช” ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๖ หน่วยราชการในพระองค์ ขอเผยแพร่พระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เพื่อน้อมรําลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

พระราชกรณียกิจด้านการเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศ

          นับแต่พุทธศักราช ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์  การเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจโลกเสรีในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา ให้แน่นแฟ้นจะทำให้สถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ระหว่างพุทธศักราช ๒๕๐๒ – ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระ
บรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยพระราชทานเหตุผลของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนว่า “…ในสมัยนี้ ประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ…จึงควรพยายามให้รู้จักนิสัยใจคอกัน ทั้งต้องผูกน้ำใจกันไว้ให้ดี…” เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ

พุทธศักราช ๒๕๐๒ เสด็จพระราชดำเนินเยือนเวียดนามเป็นประเทศแรก
พุทธศักราช ๒๕๐๓ เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดนีเซีย พม่า สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป รวม ๑๔ ประเทศ
พุทธศักราช ๒๕๐๕ เสด็จพระราชดำเนินเยือนปากีสถาน มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย
พุทธศักราช ๒๕๐๖ เสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่น จีน (ไต้หวัน) และฟิลิปปินส์
พุทธศักราช ๒๕๐๗ เสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย
พุทธศักราช ๒๕๐๙ เสด็จพระราชดำเนินเยือนเยอรมนี
พุทธศักราช ๒๕๑๐ เสด็จพระราชดำเนินเยือนอิหร่าน สหรัฐอเมริกา และแคนาดา

          หลังจากนี้ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศใดอีก จนกระทั่งพุทธศักราช ๒๕๓๗ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนลาวเป็นประเทศสุดท้าย
การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญพระราชไมตรีกับมิตรประเทศทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในสังคมโลกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดความร่วมมือแบบทวิภาคีในเวลาต่อมา ได้แก่ ความร่วมมือโครงการโคนมไทย – เดนมาร์ก เพื่อสนับสนุนการก่อตั้งสหกรณ์โคนมในประเทศไทย การทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพันธุ์ปลานิลของญี่ปุ่นจากสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเจ้าชายอากิฮิโต มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น การได้รับเงินทุนสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี เฟลเลอร์ เพื่อการพัฒนาด้านการแพทย์และการศึกษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทรงเจริญพระราชไมตรีกับมิตรประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในหลายโอกาส อาทิ ทรงต้อนรับ

         พระประมุขและประมุขต่างประเทศที่เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยือนหรือเดินทางมาเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะหรือแขกของรัฐบาล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ขึ้น (พุทธศักราช ๒๕๐๕) สำหรับพระราชทานแก่พระประมุขและประมุขต่างประเทศ พระราชอาคันตุกะสำคัญแห่งพระราชวงศ์ในยุโรปและเอเชียที่เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยือนประเทศไทย ได้แก่ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามี เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ สมเด็จพระราชาธิบดี ฆวน คาร์ลอสที่ ๑ และสมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน สมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ลที่ ๑๖ กุสตาฟ แห่งสวีเดน สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ และเจ้าชายอากิชิโนะ แห่งญี่ปุ่น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชโอรสและพระราชธิดาเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีของราชอาณาจักรอื่นตามคำกราบบังคมทูลเชิญ ได้แก่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร) และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม – อเล็กซานเดอร์ แห่งเนเธอร์แลนด์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๖

         พุทธศักราช ๒๕๔๙ เนื่องในโอกาสมหามงคลการพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล
อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระประมุขและพระราชวงศ์ต่างประเทศ ๒๕ ประเทศ เสด็จพระราชดำเนินและเสด็จมาทรงร่วมถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ทรงเป็นผู้แทนพระประมุขและพระราชวงศ์ต่างประเทศ กล่าวถวายพระพรชัยมงคล เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในหมู่พระที่นั่งจักรมหาปราสาท ความตอนหนึ่งว่า

“…ฝ่าพระบาทได้ทรงใช้พระราชปรีชาญาณ พระสติปัญญา
พระวิริยอุตสาหะ ตลอดจนความองอาจและกล้าหาญที่พระองค์
ทรงมีอยู่อย่างท่วมท้น ในการนำประเทศไทยให้พ้นภัย ฝ่าพระบาทไม่เคย
ทรงอยู่ห่างไกลจากพสกนิกรของพระองค์ ไม่เคยมีพระราชดำริให้ประชาชน
เป็นเพียงผู้ฟังคำสั่งหรือบริวาร ในทางตรงกันข้าม ฝ่าพระบาท
ทรงอยู่เคียงข้างและทรงร่วมทุกข์และร่วมสุข กับประชาชนชาวไทยตลอดมา…
….ฝ่าพระบาททรงเป็นมิตรที่รักและพึงเคารพที่สุดของพวกเรา
ฝ่าพระบาททรงเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าพระประมุข
ผู้เป็นมิตรที่มีความชื่นชมในพระองค์ และสิ่งนี้คือเหตุผล
ของความพร้อมเพรียงกันเพื่อเฉลิมพระเกียรติอย่างสูงสุดในครั้งนี้…”

     พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลจากองค์การระหว่างประเทศและสถาบันชั้นนำของโลกหลากหลายสาขา เช่น รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (Human Development Lifetime Achievement Award) จากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) รางวัลเหรียญฟีแล (Philae Medal) จากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) รางวัลเหรียญทองคำสดุดีพระเกียรติคุณด้านการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด (Award of Appreciation in Recognition of Outstanding Contributions in the Field of International Drug Control) จากโครงการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNDCP) รางวัลเหรียญเทเลฟูด (Telefood Award) จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และรางวัลเกียรติยศ Dr. Norman E. Borlaug World Food Prize Medallion ประจำปี ๒๐๐๗ ในฐานะ “พระมหากษัตริย์
นักพัฒนา”