พระราชพิธีสงกรานต์

พระราชพิธีสงกรานต์

พระราชพิธีสงกรานต์

วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๑๔ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธีสงกรานต์ ณ หอพระสุราลัยพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ หอพระธาตุมณเฑียร
และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง

     พระราชพิธีสงกรานต์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ – ๗

     สงกรานต์ คือ เทศกาลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งกำหนดตามสุริยคติ ปกติตกระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๔ – ๑๕ เมษายน วันที่ ๑๓ เมษายน คือ วันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เมษายน คือวันเนา และวันที่ ๑๕ เมษายน คือ วันเถลิงศก ซึ่งพุทธศาสนิกชนได้บำเพ็ญกุศลเป็นประเพณีสืบต่อกันมา

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ส่วนประเพณีการบำเพ็ญกุศลวันสงกรานต์ยังคงมีอยู่ตามเดิม

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (วันสิ้นปี) พระราชพิธีเถลิงศกสงกรานต์ (ขึ้นปีใหม่) และพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล (ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา) เข้าด้วยกัน เรียกว่า พระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์ เริ่มงานตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ถึงวันที่ ๒ เมษายน และถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นพระราชพิธีสงกรานต์ที่เคยมีในวันที่ ๑๓ เมษายน จึงงดไป

พระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์ ประกอบด้วยพระราชกรณียกิจหลายอย่าง ได้แก่ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลก่อพระเจดีย์ทราย สวดมนต์ฉลองพระเจดีย์ทราย ถวายข้าวบิณฑ์ สรงน้ำพระพุทธรูป พระบรมอัฐิและพระอัฐิ พระราชทานน้ำสงกรานต์และผ้านุ่งห่มแก่พระบรมวงศานุวงศ์ผู้สูงอายุ สมเด็จพระสังฆราช และขุนนางผู้ใหญ่ที่สูงอายุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนับถือ

ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เมื่อมีพระโอรสพระธิดาของพระบรมวงศานุวงศ์ที่เจริญพระชันษาครบกำหนดที่จะโสกันต์เกศากันต์ (โกนจุก) ก็โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพระราชพิธีโสกันต์เกศากันต์ในพระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์ด้วย


     พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๘

     รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ รัฐบาลได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันที่ ๑ มกราคม เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๔ การพระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์จึงเปลี่ยนชื่อเรียกว่า พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ มีกำหนดพระราชพิธี ๓ วัน คือ

วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๑ มกราคม และ ๒ มกราคม มีการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล คือ วันที่ ๓๑ ธันวาคม – ๑ มกราคม เวลาเช้า นิมนต์พระสงฆ์รับอาหารบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง วันละ ๑๕๐ รูป

วันที่ ๓๑ ธันวาคม เวลาบ่าย คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมุหพระราชพิธีอ่านประกาศกระแส พระบรมราชโองการเรื่องการขึ้นปีใหม่ จบแล้ว พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์

วันที่ ๑ มกราคม คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปสรงน้ำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ และพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วมายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประเคนภัตตาหารแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว ทอดผ้าคู่สดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพระอัฐิพระบรมวงศานุวงศ์

วันนี้ สำนักพระราชวังจัดสถานที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ลงพระนามและข้าราชกาประชาชนลงนามถวายพระพรชัยมงคลที่ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา ๑๐ นาฬิกา จนถึงเวลา ๑๖ นาฬิกา

วันที่ ๒ มกราคม คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปสรงน้ำปูชนียวัตถุในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทอดผ้าคู่สดับปกรณ์พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และพระอัฐิพระราชวงศ์ที่หอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


     พระราชพิธีสงกรานต์ในสมัยรัชกาลที่ ๙ และรัชกาลปัจจุบัน

     เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๙ แต่ยังทรงพระเยาว์ และยังต้องประทับศึกษาวิชาการ ณ ต่างประเทศ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ให้ฟื้นฟูราชประเพณีบำเพ็ญพระราชกุศลเทศกาลสงกรานต์ขึ้นมาใหม่ เรียกว่า พระราชพิธีสงกรานต์ มีรายการบำเพ็ญพระราชกุศล ๔ วัน คือ วันที่ ๑๓ – ๑๔ – ๑๕ – ๑๖ เมษายน

ครั้นถึงพุทธศักราช ๒๕๑๑ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ลดจำนวนวันบำเพ็ญพระราชกุศลในพระราชพิธีสงกรานต์ โดยรวมการพระราชกุศลที่จะทรงปฏิบัติในการพระราชพิธีสงกรานต์ทั้ง ๔ วัน คงเหลือเพียงวันที่ ๑๕ เมษายน วันเดียว ด้วยมีพระราชดำริว่า วันที่ ๑๓ เมษายน พระสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์มาในการพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวัง อาจจะติดกิจนิมนต์ของราษฎร ทั้งนี้ ยังคงเรียกว่า พระราชพิธีสงกรานต์ โดยถือธรรมเนียมปฏิบัติพระราชพิธีตามเดิม ดังนี้

     เวลาเช้า โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน ๑๕๐ รูป เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง

     เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระมหามณเฑียร ทรงสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญและพระบรมสารีริกธาตุที่หอพระสุลาลัยพิมาน ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศ แล้วทรงพระดำเนินไปทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราชที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณทรงพระดำเนินไปยังหอพระธาตุมณเฑียร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะทองทิศ แล้วทรงสรงน้ำพระบรมอัฐิและพระอัฐิ เสร็จแล้ว เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางพระทวารเทวราชมเหศวร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพานทองสองชั้นบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบรมอัฐิและพระอัฐิที่ประดิษฐานบนพระที่นั่งบุษบกมาลา ทรงพระดำเนินผ่านพระราชวงศ์ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ประทับพระราชอาสน์ เจ้าพนักงานกรมการศาสนาอาราธนาศีล สมเด็จพระราชคณะถวายศีล พระสงฆ์ถวายพรพระ จบแล้ว ทรงพระดำเนินไปทรงจุดธูปเทียนที่พนมข้าวบิณฑ์ที่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา แล้วทรงประเคนภัตตาหารแก่สมเด็จพระราชาคณะ ผู้เป็นประธานสงฆ์แล้วประทับพระเก้าอี้ทรงปฏิบัติประธานสงฆ์ ส่วนภัตตาหารนอกนั้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชวงศ์ทรงประเคนตามลำดับ เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน เสร็จแล้ว ทรงพระดำเนินไปประทับพระราชอาสน์ เจ้าพนักงานเชิญพระโกศพระบรมอัฐิและพระโกศพระอัฐิออกประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตรและพระที่นั่งกงภายใต้ฉัตรขาวลายทอง ๕ ชั้น เสร็จแล้ว เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน ๗๖ รูป เท่าจำนวนพระโกศที่เชิญมาบำเพ็ญพระราชกุศลไปนั่งยังอาสน์สงฆ์สำหรับสดับปกรณ์ (พระสงฆ์ที่สดับปกรณ์นิมนต์พระสงฆ์จากพระอารามประจำพระบรมอัฐิและพระอัฐิ) ทรงพระดำเนินไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะทองลงยาราชาวดีและเครื่องราชสักการะทองลงยารอง ที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงกราบถวายบังคมพระบรมอัฐิ ประทับพระราชอาสน์ที่เดิม เจ้าพนักงานลาดพระภูษาโยง พร้อมแล้ว ทรงพระดำเนินไปทรงทอดผ้าคู่ (ผ้าขาว จำนวน ๒ ผืน แทนผ้านุ่ง ๑ ผืน ผ้าห่ม ๑ ผืน ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมราชบุพการี) และน้ำอบไทย จำนวน ๑ ขวด พระสงฆ์สดับปกรณ์ จำนวน ๔ เที่ยว เสร็จแล้ว ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ทรงพระดำเนินไปทรงกราบพระพุทธรูปที่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา แล้วทรงพระดำเนินไปทรงกราบพระบรมอัฐิที่หน้าพระแท่นนพปฎลลมหาเศวตฉัตร ทรงรับการถวายความเคารพของผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เสด็จออกจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับรถยนต์พระที่นั่งที่พระทวารเทเวศรรักษา เสด็จพระราชดำเนินกลับ

     เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที เสด็จพระราชดำเนิน หรือโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศ์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จขึ้นชานหน้าพระอุโบสถ ผู้อำนวยการกองพระราชพิธี กราบบังคมทูลทรงพระราชอุทิศเครื่องราชสักการะ ประกอบด้วยต้นไม้ทอง จำนวน ๔ ต้น ต้นไม้เงิน จำนวน ๔ ต้น แพรแดงติดขลิบ จำนวน ๔ ผืน ผ้าแพรสีดอกคำ จำนวน ๒ ผืน เทียนหนักเล่มละ ๑๘๐ แกรม จำนวน ๔๘ เล่ม ธูปไม้ระกำ จำนวน ๒๘ ดอก น้ำหอมสรงพระ จำนวน ๒ หม้อ ๓ ขวดโหล เทียนหนักเล่มละ ๑๕ แกรม จำนวน ๖๐๐ เล่ม ธูป จำนวน ๑,๐๐๐ ดอก โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยเชิญไปถวายเป็นพุทธบูชาปูชนียสถาน คือ

๑. พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
๒. พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
๓. พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
๔. พระธาตุนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
๕. พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
๖. พระศรีสรรเพ็ชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๗. พระพุทธรูปถ้ำประทุน จังหวัดสระบุรี
๘. พระพุทธรูปถ้ำวิมานจักรี จังหวัดสระบุรี
๙. พระพุทธรูปวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๑๐. พระพุทธรูปวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

     จบแล้ว เสด็จเข้าพระอุโบสถไปยังหน้าธรรมาสน์ศิลา ทรงพระสุหร่ายฉีดสรง และทรงจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระพุทธเลิศหล้านภาไลย ทรงคม แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ที่หน้าธรรมาสน์ศิลา ทรงกราบ เสด็จออกจากพระอุโบสถไปยังหอพระคันธารราษฎร์ ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธคันธารราษฎร์ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง ทรงกราบ ทรงพระดำเนินไปยังหอพระราชกรมานุสร (หอเหนือ หลังพระอุโบสถ) ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธรูปปางประจำรัชกาลพระมหากษัตริย์กรุงสุโขทัย จำนวน ๑ องค์ (โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๙ ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี) พระพุทธรูปปางประจำรัชกาลพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา จำนวน ๓๓ องค์ และพระพุทธรูปปางประจำรัชกาลพระมหากษัตริย์กรุงธนบุรี จำนวน ๑ องค์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง ทรงกราบ แล้วทรงพระดำเนินไปยังหอพระราชพงศานุสร (หอใต้ หลังพระอุโบสถ) ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธรูปปางประจำรัชกาลพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ จำนวน ๘ องค์ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง ทรงกราบ แล้วทรงพระดำเนินไปยังพระศรีรัตนเจดีย์ ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธเจดีย์ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองน้อย ทรงกราบ เสด็จขึ้นพระมณฑป ทรงพระสุหร่ายสรงพระไตรปิฎก ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง ทรงกราบ แล้วทรงพระดำเนินไปยังซุ้มจระนำปราสาทพระเทพบิดร ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธรูปเทพบิดรและพระพุทธรูปบริวาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง ทรงกราบ จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังต้นนิโครธ (เป็นต้นไม้ในพุทธประวัติ) ทรงพระสุหร่ายฉีดสรงต้นนิโครธ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องท้ายที่นั่ง ทรงคม แล้วทรงพระดำเนินไปยังพระวิหารยอด ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธรูป แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง ทรงกราบ จากนั้น ทรงพระดำเนินไปไปยังหอพระมณเฑียรธรรม ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระพุทธบาทจำลอง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงกราบ แล้วทรงพระดำเนินไปยัง หอพระนาก ทรงพระสุหร่ายสรงพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ๔ พระองค์ และพระอัฐิพระราชวงศ์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงกราบ ทรงรับการถวายความเคารพของผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ประทับพระเก้าอี้ เจ้าหน้าที่ลาดพระภูษาโยง ทรงพระดำเนินไปทรงทอดผ้าคู่ พระสงฆ์ จำนวน ๕ รูป สดับปกรณ์พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ๔ พระองค์ รวม ๕ พระองค์ เสร็จแล้ว เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์อีกจำนวนหนึ่งขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์ เจ้าพนักงานลาดพระภูษาโยง ทรงพระดำเนินไปทรงทอดผ้าคู่สำหรับพระอัฐิพระราชวงศ์ จำนวน ๔๐ คู่ พร้อมน้ำอบไทย จำนวน ๑ ขวด พระสงฆ์สดับปกรณ์จนครบจำนวน ๔๐ รูป ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก จากนั้นทรงพระดำเนินไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการทองน้อย ทรงพระดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่งที่ประตูเกยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จพระราชดำเนินกลับ

     ภายหลังพระราชพิธีสงกรานต์ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์เชิญน้ำสรงและผ้าไตรไปถวายสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และเชิญน้ำสรง ผ้านุ่งผ้าห่ม และเงินพระราชทานไปถวายพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ที่มีพระชันษาสูง

     อนึ่ง ในวันที่ ๑๓ – ๑๕ เมษายน ตั้งแต่เวลา ๘ นาฬิกา ถึง ๑๗ นาฬิกา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สาธุชนเข้าถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

นางสาวเพลินพิศ กำราญ เรียบเรียง