เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ หน่วยราชการในพระองค์ ขอเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ

ทรงเชิดชูศิลปวัฒนธรรมไทย

กำเนิดไทยก็ยาวนานนับพันปี          สิ่งดีดีก็มากมายไทยมีอยู่

      รอแต่คนค้นหามาเชิดชู                 ให้โลกรู้ให้โลกเห็นความเป็นไทย

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงตระหนักดีว่าเมืองไทยนี้มีศิลปวัฒนธรรมอันดีงามมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ หากสมัยนี้ลูกหลานไทยสนใจแต่อารยธรรมสมัยใหม่ หรือวัฒนธรรมของชาติอื่น มิช้าอดีตที่ไทยเคยยิ่งใหญ่รุ่งเรืองไม่แพ้ชาติใด ๆ ก็คงจะลบเลือนหายไป ดังนั้นจึงทรงหยิบยกตัวอย่าง ของความเป็นไทยอันงดงามมาเชิดชูให้ปรากฏเพื่อเตือนตาเตือนใจไทยให้รำลึกไว้เสมอว่าคนไทยเรา มีฝีมือทุกด้านควรแก่การภาคภูมิใจ

          เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๓ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีกำหนดการที่จะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงพระราชดำริว่า แม้เราจะมีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมในการแต่งกายของเราเองอยู่แล้วแต่สตรีไทยก็ยังไม่มีเครื่องแต่งกายชุดประจำชาติ จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ผู้ที่เชี่ยวชาญในการออกแบบเครื่องแต่งกาย คิดปรับปรุงแบบเสื้อที่สตรีไทยแต่งกันมาแต่โบราณกาลให้ทันสมัย เพื่อทรงใช้เป็นชุดไทยประจำชาติในระหว่างที่เสด็จฯ ไปทรงเยือนต่างประเทศครั้งนั้น ผลก็คือไทยเราได้มีชุดไทยประจำชาติที่สง่างามและเหมาะสมไว้ใช้ในโอกาสต่าง ๆ มาจนทุกวันนี้ ซึ่งเรียกกันว่า ‘ชุดไทยพระราชนิยม’ 

ชุดไทยพระราชนิยม มีดังนี้

          ๑. ชุดไทยเรือนต้น     ๒. ชุดไทยจิตรลดา     ๓. ชุดไทยอมรินทร์     ๔. ชุดไทยบรมพิมาน

          ๕. ชุดไทยจักรี          ๖. ชุดไทยดุสิต          ๗. ชุดไทยศิวาลัย       ๘. ชุดไทยจักรพรรดิ์

           จะสังเกตว่า ชื่อชุดไทยต่างๆ  เหล่านี้ เป็นชื่อเกี่ยวกับพระที่นั่งหรือพระตำหนัก ซึ่งมีความสอดคล้องกันกับโอกาสและความเหมาะสมในการใช้เครื่องแต่งกายชุดไทยด้วย

           ปัจจุบันนี้ ชุดไทยประจำชาติได้เป็นที่นิยมในหมู่สตรีไทยและสังคมไทยทั่วไป ทั้งยังได้เผยแพร่ชื่อเสียงความงดงามด้วยศิลปะทั้งปวงไปยังนานาประเทศ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่บรรดาสตรีไทย ที่ได้พระราชทานแนวพระราชนิยมเป็นแบบแผนการแต่งกายประจำชาติสำหรับสตรีขึ้น เป็นการส่งเสริมเชิดชูศิลปวัฒนธรรมไทยตามลำดับยุคสมัย ที่จะต้องปรากฏต่อไปเป็นประวัติศาสตร์ของชาติสืบชั่วกาลนาน

ชุดไทยเรือนต้น สำหรับการใช้ลำลอง ไม่เป็นพิธีและต้องการความสบาย เช่น ไปงานกฐินต้น ไปเที่ยวเรือ ฯลฯ ลักษณะเป็นซิ่นป้าย เสื้อคอกลม แขนสามส่วนปลายแขนหลวมเล็กน้อย

ชุดไทยจิตรลดา เป็นชุดไทยพิธีตอนกลางวัน ผ้าซิ่นป้ายเป็นผ้าไหมยกดอกมีเชิงหรือยกดอกทั้งตัว เสื้อแขนยาว ผ่าอก คอกลม มีขอบตั้ง

ชุดไทยอมรินทร์ ใช้เป็นชุดพิธีตอนค่ำ ผ้าซิ่นยกทองทั้งตัว เสื้อแขนยาว คอตั้ง เช่นเดียวกับไทยจิตรลดา

ชุดไทยบรมพิมาน เป็นชุดไทยในงานพิธีตอนค่ำที่ใช้เข็มขัดและเครื่องประดับ ผ้าซิ่นยกทองทั้งตัว จีบหน้านาง เสื้อคอกลมขอบตั้งเล็กน้อย แขนยาว และผ่าหลัง สำหรับใช้ในงานพระราชพิธีเต็มยศและประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ชุดไทยจักรี เป็นชุดที่ใช้ผ้าซิ่นแบบเดียวกับไทยบรมพิมาน แต่เสื้อเป็นสไบเฉียง ใช้ในโอกาสงานพิธีกลางคืน

ชุดไทยดุสิต ใช้ในงานพิธีเต็มยศกลางคืน ผ้าซิ่นเช่นเดียวกับไทยจักรีและไทยบรมพิมาน เสื้อคอกลมกว้างคล้ายคอกระเช้า แต่ไม่จีบรูด ไม่มีแขน ปักดิ้นเงินทอง ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และสายสะพายได้อย่างงดงาม

ชุดไทยศิวาลัย ชุดไทยแบบนี้ใช้ในงานพิธีเต็มยศ ทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นแบบเดียวกับชุดไทยบรมพิมาน แต่มีผ้าสไบห่มทับ

ชุดไทยจักพรรดิ ใช้ในงานพิธีเต็มยศตอนกลางคืน ผ้าซิ่นเช่นเดียวกับชุดไทยจักรี ใช้สไบเฉียงเช่นเดียวกันแต่เป็นสไบจีบชั้นใน และห่มสไบปักทับเห็นรอยจีบเล็กน้อย