การศึกษาของชาตินั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการวางรากฐานแก่ชีวิต และความเป็นอยู่ของราษฎร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยและประจักษ์ในความสำคัญของปัญหานี้ จึงทรงเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเต็มพระกำลัง ด้วยวิญญาณแห่งความเป็นแม่และครูที่ทรงมีอยู่อย่างเปี่ยมล้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มิได้ทรงมุ่งแก้ปัญหาเพียงทางใดทางหนึ่งเท่านั้น หากแต่ทรงแก้ปัญหาทุกด้านไปพร้อม ๆ กัน เช่น ทรงพบครอบครัวที่ยากจนขาดที่ทำกินและมีลูกมาก ก็จะทรงพิจารณาหาอาชีพให้แก่พ่อแม่ และพระราชทานการศึกษาแก่ลูก การศึกษานั้นไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นการศึกษาหลักสูตรต่าง ๆ เสมอไป หากเด็กคนใดอยู่ในวัยเรียนมีผลการเรียนดีพอสมควร มีความมานะพยายาม และต้องการเรียนต่อจริง ๆ ก็จะส่งเสียให้เรียนไปตามความสามารถของเด็กนั้นจนถึงระดับปริญญาตรี แต่หากเด็กคนในที่มีอายุมากเกินกว่าจะกลับมาเข้าชั้นเรียนเดียวกับเด็กอื่น ๆ ได้ ก็จะทรงส่งเสริมให้เรียนวิชาชีพตามความสนใจและความสามารถของเด็ก ทั้งนี้ รวมถึงเด็กแขนขาพิการตาบอดและหูหนวก ที่ทรงพบว่ามีความสามารถพอจะเรียนต่อได้อีกด้วย
ในเวลาเดียวกัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็ทรงคำนึงถึงราษฎรตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วประเทศที่ไม่มีโอกาสได้ไปศึกษาหาความรู้ จึงทรงริเริ่มโครงการห้องสมุดสารพัดประโยชน์ขึ้นในหลายๆ หมู่บ้าน โดยใช้ชื่อว่า “ศาลารวมใจ” มีพระราชประสงค์ให้ราษฎรทุกเพศทุกวัยได้เพิ่มพูนความรู้ ไม่ว่าจะโดยการศึกษาในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียนเพื่อให้มีความรู้รอบตัว รู้ถึงความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนรู้จักปรับตัวให้ทันกับสภาพสังคมปัจจุบัน และที่สำคัญคือให้สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เพื่อจะได้เป็นประชาชนที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป