วันพฤหัสบดี ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ข่าวในพระราชสำนัก
พระบรมมหาราชวัง
วันพฤหัสบดี ที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

วันนี้ เวลา ๐๙.๐๖ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
โปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐ ณ หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอพะเยา จังหวัดพะเยา
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาท ความว่า ปริญญาบัตรที่บัณฑิตได้รับในวันนี้ เป็นทั้งเครื่องประกาศความสำเร็จ
ทางการศึกษา และเครื่องหมายรับรองความรู้ตามที่บัณฑิตได้ศึกษามา แต่ปริญญาบัตรจะมีคุณค่ามากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับแต่ละคน ว่าจะสามารถนำความรู้ที่มีอยู่ ไปใช้ให้บังเกิดผลเป็นความสำเร็จและ
ความเจริญได้หรือไม่ หลักในการสร้างสรรค์ความสำเร็จดังที่กล่าวนั้น อยู่ที่การรู้จักปรับใช้ความรู้และ
ทฤษฎีต่าง ๆ ให้พอเหมาะพอดีกับงานที่ทำ ซึ่งต้องอาศัยความคิดวิจารณญาณ และความเข้าใจในงาน ตลอดถึงสถานการณ์แวดล้อมทุกอย่าง ในขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงเหตุผลและความถูกต้องชอบธรรมด้วย เพื่อให้งานที่ทำสำเร็จผลเป็นประโยชน์แท้แต่อย่างเดียว ไม่เกิดเป็นโทษเสียหาย จึงขอให้บัณฑิตทุกคน
นำสิ่งที่พูดนี้ไปพิจารณาให้เข้าใจ จะได้ใช้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ความสำเร็จ ทั้งแก่ตนเอง
และแก่ส่วนรวมประเทศชาติ ด้วยความรู้ความสามารถที่สมคุณค่าปริญญาบัตร
เวลา ๑๓.๔๖ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม
พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ ศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
อนึ่ง เมื่อวันพุธ ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๘.๓๔ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
งานสมโภช ๖๖๖ ปี พระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง ณ วิหารหลวงวัดพระธาตุแช่แห้ง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังวิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิด “สะพานเฉลิมพระเกียรติ”
ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาสร้างขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาส ๖๖๖ ปี สมโภชพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง และ
ทดแทนสะพานไม้เก่าที่ชำรุด สำหรับให้รถยนต์สัญจรข้ามคูเมืองเก่าไปยังวิทยาลัยสงฆ์นครน่าน ฯ ได้สะดวก
และปลอดภัย ตัวสะพานเป็นศิลปะเมืองน่าน และได้รับพระราชทานนามว่า “สะพานสิริธรรมรัถย์” หมายถึง เส้นทางแห่งคุณความดีอันเป็นมงคล เสร็จแล้ว ทรงเปิด “อาคารเฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งมหาวิทยาลัย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สร้างขึ้นเพื่อจัดการเรียนการสอนวิชาทางพระพุทธศาสนา และให้โรงเรียน
พระปริยัติธรรมแผนกสามัญทั้ง ๑๕ แห่งในจังหวัดใช้ประโยชน์ร่วมกัน โอกาสนี้ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานวิจัยของคณาจารย์และนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และนิทรรศการวิชาการของเครือข่าย และกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา กลุ่ม ๖ จากนั้น
เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานประชุมวิชาการทางพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ ครั้งที่ ๒
เรื่อง “นครน่าน : นครพระพุทธศาสนาสู่มรดกโลก” ที่วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ
/ราชวิทยาลัย…..

– ๒ –

ราชวิทยาลัย สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่
ผลงานทางวิชาการสู่สังคม
ในวันเดียวกันนั้น เวลา ๑๓.๓๕ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโครงการทหารพันธุ์ดี ณ กรมทหารพรานที่ ๓๒
อำเภอพูเพียง จังหวัดน่าน ทรงติดตามการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมณฑลทหารบกที่ ๓๘ ได้น้อมนำ
แนวพระราชดำริ โครงการตามรอยเท้าพ่อและโครงการทหารพันธุ์ดี มาทดลองปรับใช้ในพื้นที่จังหวัดน่าน
เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กำลังพลของหน่วย และขยายผลไปสู่ประชาชน โดยจัดส่งกำลังพล เข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แล้วนำความรู้มาเป็นแนวทางดำเนินงาน ซึ่งเริ่มโครงการเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ในพื้นที่กว่า ๔๒ ไร่ บริเวณฐานแสงเพ็ญ มีหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ประกอบด้วย กรมทหารพรานที่ ๓๒ และกองพันทหารม้าที่ ๑๐ กรมทหารม้าที่ ๒ ดำเนินกิจกรรมทั้งด้านเกษตรกรรม และปศุสัตว์ อาทิ การเลี้ยงไก่พันธุ์พระราชทาน คือ ไก่พันธุ์ประดู่หางดำและไก่ดำ นอกจากนี้ ยังได้จัดซื้อไก่พันธุ์ไข่มาเพาะเลี้ยงเพิ่มเติม เพื่อสนองพระราชดำริ ในการลดปริมาณการนำเข้าไข่ไก่
ในจังหวัดน่าน การปลูกพืชสมุนไพร อาทิ ผักเชียงดา ผักกูด ผักหนาม ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น การปลูกพริกจินดา ซึ่งเป็นที่นิยมในท้องตลาด ตลอดจนการผลิตไส้กรอกสำเร็จรูป การปลูกผักกางมุ้งการปลูกพืชสมุนไพรกำจัดแมลง การทำน้ำส้มควันไม้ ที่ใช้ระบบธรรมชาติบำบัด ลดปริมาณการใช้ยาฆ่าแมลง หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี โดยส่งเสริมให้มีการทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานไว้ใช้ในกิจกรรมการเกษตรเองด้วย นอกจากนี้ ยังมีการปลูกผัก เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน สำหรับนำไปแจกจ่ายให้แก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ
ด้านปศุสัตว์ ส่งเสริมให้เลี้ยงหมูป่า หมูพันธุ์เหมยซาน เป็ด กบนา ปลานิลจิตรลดา และกุ้งฝอย นอกจากนี้
ยังส่งเสริมการปลูกไผ่ เพื่อแก้ปัญหาภูเขาหัวโล้นในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยจัดทำแปลงสาธิตสายพันธุ์ไผ่พื้นเมือง
ที่สำคัญของจังหวัด ทั้งไผ่เศรษฐกิจและไผ่สวยงาม อาทิ ไผ่ซางหม่น ไผ่รวกดำน่าน ไผ่ทองสุข ไผ่ฟ้าหม่น และ
ไผ่ตงอินโดจีน ปัจจุบัน มีประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ สนใจเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง
โอกาสนี้ พระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้สนับสนุนโครงการ ฯ และพระราชทานพระราโชวาทแก่คณะทำงานโครงการทหารพันธุ์ดี (ฝ่ายทหาร) และผู้นำชุมชน สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ พระตำหนักธงน้อย อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน