คำกราบบังคมทูล ของ ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานกิจการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2560 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม 2561 (ภาคเช้า)

วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2561
คำกราบบังคมทูล(๑) 

ของ 
ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ 
อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
รายงานกิจการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐ 
ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ 
(ภาคเช้า) 

ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาท 

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลรายงานกิจการและผลการดำเนินงาน 
ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในรอบปีการศึกษา ๒๕๖๐ จำแนกตามพันธกิจหลัก 
ของมหาวิทยาลัย ๔ ด้าน ได้แก่ การผลิตบัณฑิต การวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม 
การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม 

ผลการดำเนินงานด้านการผลิตบัณฑิต 

ในปีการศึกษา ๒๕๖๐ มหาวิทยาลัยมีนิสิตใหม่รวมจำนวน ๙,๙๙๖ คน 
จำแนกเป็นระดับปริญญาตรี ๖,๓๙๗ คน และระดับบัณฑิตศึกษา ๓,๕๙๙ คน 
มีนิสิตทุกชั้นปีศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยรวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๗,๐๔๖ คน จำแนกโดย 
เป็นนิสิตระดับปริญญาตรี ๒๕,๓๖๘ คน (คิดเป็นร้อยละ ๖๘.๕) และนิสิตระดับ 

(๑) ถ้อยคำและอักขรวิธีตรงตามต้นฉบับ 

264

บัณฑิตศึกษา ๑๑,๖๗๘ คน (คิดเป็นร้อยละ ๓๑.๕ โดยรวมแล้วมีจำนวนใกล้เคียง 
กับรอบปีที่ผ่านมา) 

ปัจจุบันเปิดหลักสูตรการสอนในทุกศาสตร์สาขารวม ๔๔๘ หลักสูตร ในจำนวน 
นี้เป็นหลักสูตรนานาชาติและหลักสูตรภาษาอังกฤษ ๙๓ หลักสูตร จำแนกตามระดับ
หลักสูตรได้เป็นระดับปริญญาตรี ๗๒ หลักสูตร ระดับบัณฑิตศึกษา ๓๗๖ หลักสูตร 
เป็นระดับปริญญาโท ๒๑๕ หลักสูตร ในรอบปีการศึกษานี้ มหาวิทยาลัยกำหนด 
นโยบายให้ทุกส่วนงานปรับปรุงหลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา 
พ.ศ. ๒๕๕๘ ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ทุกหลักสูตรพร้อมกัน 
และจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศด้วยเกณฑ์ EdPEx ของ 
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของส่วนงานให้สูงขึ้น 

ในด้านกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยได้กำหนดนโยบายการพัฒนานิสิต เพื่อให้นิสิต 
แต่ละบุคคลได้พัฒนาตัวตน พัฒนาศักยภาพได้ตามความสามารถ เตรียมความพร้อม 
เพื่อการเป็นบุคลากรอันมีคุณค่าต่อสังคม โดยมหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนในแง่วิชาการ 
สวัสดิการ และการส่งเสริมกิจกรรมในทุกทิศทาง 

เฉพาะการสนับสนุนทุนการศึกษา ได้จัดสวัสดิการทุนการศึกษาสำหรับนิสิต 
ขาดแคลน (ทุนให้เปล่า) ๑,๖๐๑ ทุน เป็นเงิน ๔๕.๑๗ ล้านบาท ทุนทำชื่อเสียง 
๓.๑๕ ล้านบาท และมีนิสิตกู้ยืมเงินในกองทุนกู้ยืม ๔๑๕ คน เป็นวงเงินรวม 
๒๐.๔๓ ล้านบาท ส่วนในระดับบัณฑิตศึกษา จัดสรรทุนรวม ๑๖ ประเภท ครอบคลุม 
ทั้งเพื่อการศึกษา การวิจัย การเสนอผลงาน จัดทำวิทยานิพนธ์ มีการแลกเปลี่ยนนิสิต 
เพื่อไปศึกษา - เสนอผลงานยังต่างประเทศ ๑,๐๓๑ คน และรับนิสิตต่างชาติมาศึกษา/ 
วิจัย/ฝึกงานที่จุฬา ฯ ๑,๒๗๔ คน และนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีที่ผ่านมา 
ได้รับรางวัลทำชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย และเป็นแบบอย่างที่ดี ๗๕๘ รางวัล 

ผลการดำเนินงานด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม 

มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายการสร้างความเป็นเลิศด้านการวิจัย มุ่งสร้างองค์ความรู้
และนวัตกรรมทางวิชาการ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ “สร้างสรรค์ องค์ความรู้และ 
นวัตกรรม” ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ คือ งานวิจัยและวิชาการที่ชี้นำและขับเคลื่อนการพัฒนา 
สังคมไทยและสังคมโลก 

ในรอบปีการศึกษา ๒๕๖๐ มหาวิทยาลัยดำเนินโครงการวิจัย ๑,๙๑๙ โครงการ 
ส่วนใหญ่เป็นโครงการในกลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มีการ 

265

สนับสนุนงบประมาณรวม ๒,๒๖๒.๒๗ ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณจากแหล่งทุน 
ภายนอก ๗๔.๑๙% เงินรายได้ของมหาวิทยาลัย ๑๘.๓๘% และงบประมาณแผ่นดิน 
๗.๔๓% โดยมหาวิทยาลัยจัดระบบสนับสนุนทุกด้านเพื่อยกระดับศักยภาพการวิจัย 
ส่งเสริมความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ให้ผลการวิจัยได้มุ่งสร้างนวัตกรรม ตอบโจทย์
ความต้องการของสังคมได้ตรงตามจริง ร่วมพัฒนาขับเคลื่อนประเทศไทย 

ผลการดำเนินงานด้านการวิจัย ปรากฏเป็นบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในฐาน 
ข้อมูล ISI (Web of Knowledge) จำนวน ๑,๗๘๙ เรื่อง และในฐานข้อมูล SCOPUS 
จำนวน ๒,๑๕๐ เรื่อง และคุณภาพการวิจัยของมหาวิทยาลัยปรากฏผลสำเร็จเป็นรางวัล 
ด้านการวิจัยที่ได้รับมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ในปีนี้ บุคลากรระดับอาจารย์และนักวิจัย 
ได้รับรางวัลระดับนานาชาติและระดับชาติรวมทั้งสิ้น ๖๒ รางวัล จำแนกเป็น รางวัล
ระดับนานาชาติรวม ๓๗ รางวัล โดยเป็นรางวัลประเภทบุคคล ๓ รางวัล และรางวัล 
ประเภทผลงาน ๓๔ รางวัล รางวัลระดับชาติรวม ๒๕ รางวัล โดยเป็นรางวัลประเภท 
บุคคล ๑๕ รางวัล และรางวัลประเภทผลงาน ๑๐ รางวัล 

ผลการดำเนินงานด้านการบริการวิชาการ 

การบริการทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยดำเนินการอยู่ มีรูปแบบเป็นการอบรม 
ประชุม สัมมนา วิเคราะห์ ทดสอบ ตรวจสอบ บริการให้คำปรึกษา บริการจัดสอบ 
วัดความรู้ รวมถึงการบริการทางการแพทย์ ในรอบปีการศึกษา ๒๕๖๐ มีจำนวนรวม 
ทั้งสิ้น ๔,๔๖๘ โครงการ นับได้ ๑๔๒,๕๗๕ ครั้ง ครอบคลุมปริมาณผู้รับบริการ 
เฉพาะโครงการที่สามารถนับได้ รวม ๔,๙๕๖,๕๕๑ คนหรือหน่วยงาน เป็นการให้
บริการครอบคลุมเกือบทุกสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยมีการจัดการเรียนการสอน การวิจัยอยู่

ยังมีการบริการวิชาการในรูปแบบสื่อมัลติมีเดีย รายการทางโทรทัศน์ การ 
แถลงข่าว จัดการประชุมสัมมนา หรือกิจกรรมทางวิชาการ ให้ข้อมูลตามวาระโอกาส 
ในประเด็นอันเป็นที่สนใจ สงสัย หรือประเด็นอันเป็นนโยบายสาธารณะ เพื่อให้ความรู้
ที่ถูกต้องแก่ประชาชนทั่วไป เสนอทางเลือกแก่ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ในอีกส่วนหนึ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพิพิธภัณฑ์ที่เป็นแหล่งรวบรวม 
ความรู้เฉพาะด้านมากกว่า ๒๓ แห่ง และมีหน่วยงานให้บริการด้านการพยาบาล 
รักษาและสุขภาพ แก่บุคคลทั่วไป ประชาชน ทั้งคนและสัตว์ รวม ๙ แห่ง 

ส่วนการบริการอื่น ๆ แบ่งออกเป็น พิพิธภัณฑ์ที่ปัจจุบันมีมากกว่า ๒๓ แห่ง 
หน่วยงานด้านการพยาบาลรักษาและสุขภาพ ๙ แห่ง 

266

ผลการดำเนินงานด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสืบสานและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมอย่างจริงจังและ 
ต่อเนื่องมาโดยตลอด เป็นการส่งเสริมทางวิชาการ และการจัดกิจกรรม ทางด้านศาสนา 
และศิลปะและวัฒนธรรม สนับสนุนการดำเนินการพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ห้องสมุด 
ดนตรีไทย หอประวัติ 

มีการจัดงานประจำวันสำคัญทางศาสนา การบรรยายธรรม การแสดงของวง 
ซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬา ฯ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า 
กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ การแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ งานแสดง 
ทางศิลปะต่าง ๆ เป็นประจำต่อเนื่องตลอดปี 

โดยรวม ในปี ๒๕๖๐ มีการจัดกิจกรรมหรือโครงการในการอนุรักษ์ พัฒนา 
และเสริมสร้างเอกลักษณ์ ศิลปะและวัฒนธรรม นับได้๕๗๘ กิจกรรม/โครงการ 
รวม ๑,๓๕๒ ครั้ง มีผู้เข้าร่วมโครงการ (เฉพาะที่สามารถนับได้) ๒๘๗,๙๕๕ คน 
จัดทำหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ที่น่าสนใจ อาทิ หนังสือ “จุฬา ฯ จารึก” (รวมภาพถ่าย 
ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย) หนังสือ “พระบุญญาบารมีแผ่ปกพสกจุฬา ฯ” และ 
ในปีนี้ได้จัดทำวีดิทัศน์พิเศษเพื่อเผยแพร่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ชุด “เหนือเกล้า 
ชาวจุฬา ฯ” 

ตัวอย่างรายการที่น่าสนใจในปีนี้ อาทิ สดับถ้อยร้อยเรียงสำเนียงสวรรค์ ของ 
สำนักเดี่ยวเปียโนเพลงไทย โดย ศาสตราจารย์ ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ การบรรเลง 
บทเพลงซิมโฟนี “คีตราชา” ที่ศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ประพันธ์ถวาย 
รวมทั้งบทเพลงเสียงหนึ่งและบทเพลงรักในดวงใจนิรันดร์ ซึ่งนิสิตเก่าเป็นผู้ประพันธ์
ขึ้นถวาย นิทรรศการ “ทัศน์ ทัศน์ ทัศน์: ในหลวง” ผลงานโดยผู้บริหาร คณาจารย์ 
บุคลากร นิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน และนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬา ฯ (ฝ่ายประถม) 
นิทรรศการเพื่อเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ๑๐๐ ปี” นิทรรศการ “ศิลปิน เส้นสาย ลายสถาฯ” 
โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วีระ สัจจกุล นิธิ สถาปิตานนท์ ครองศักดิ์ จุฬามรกต 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง 
ซึ่งในปีนี้ได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากหลายหน่วยงาน อาทิ QS World 
University Rankings 2017 - 2018 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับ 
เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ ๑ ของประเทศไทย อันดับที่ ๕๐ ของเอเชีย และ 
อันดับที่ ๒๔๔ ของโลก เป็นอันดับที่ดีขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่อันดับที่ ๒๕๒ 

267

และในระดับภูมิภาคเอเชียนับเป็นมหาวิทยาลัยของไทยแห่งเดียวที่ติดใน ๕๐ อันดับ 
QS Graduate Employability Ranking 2017 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ ๑ ของประเทศไทยด้านคุณภาพ 
ของบัณฑิต ซึ่งเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกด้านคุณภาพของบัณฑิตผ่าน 
มุมมองของผู้จ้างงาน 

ในปีการศึกษา ๒๕๖๐ มีผู้สำเร็จการศึกษารวม ๙,๖๔๙ คน ประกอบด้วย 
ดุษฎีบัณฑิต ๔๒๕ คน มหาบัณฑิต ๓,๐๔๙ คน ประกาศนียบัตรบัณฑิต และ 
ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงรวม ๒๔๒ คน ปริญญาบัณฑิต ๙,๔๗๖ คน และ 
อนุปริญญา ๑๗๓ คน 

บัดนี้ ได้เวลาอันเป็นมงคลอุดมฤกษ์แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทาน 
กราบบังคมทูลเชิญใต้ฝ่าละอองพระบาทพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา 
ตามที่คณบดีจะได้กราบบังคมทูลต่อไปและขอรับพระราชทานพระราโชวาท เพื่อเป็น 
สิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสืบไป 

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม 

268