คำกราบบังคมทูล ของ ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สดุดีเกียรติคุณผู้ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2560 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2562 (ภาคแรก)

วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ.2562
คำกราบบังคมทูล(๑) 

ของ 
ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ เศรษฐบุตร 
นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
สดุดีเกียรติคุณผู้ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ 
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา 
ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐ 
ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
วันอาทิตย์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๒ 
(ภาคแรก) 

ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท 

ด้วยสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีมติมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
และมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐ ให้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิอันสมควร 
แก่ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในสาขาวิชาต่าง ๆ 
จำนวน ๙ ราย ข้าพระพุทธเจ้า ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภา 
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอพระราชทานพระราชวโรกาสกล่าวคำสดุดีเกียรติคุณ 
ผู้ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง ๙ ราย ดังต่อไปนี้ 

๑. ศาสตราจารย์ ดร.แอนดรู เจมส์ ฮาร์ดดิ้ง เป็นนักวิชาการกฎหมายชั้นนำ 
ของโลก ด้านกฎหมายเอเชีย และกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ มีบทบาทสำคัญ 
ในการส่งเสริมการศึกษาวิจัย และการจัดกิจกรรมทางวิชาการด้านกฎหมายเอเชีย เป็น 
ต้นแบบของนักวิชาการและครูผู้สอนกฎหมาย ที่ดำรงตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอยู่ใน 

(๑) ถ้อยคำและอักขรวิธีตรงตามต้นฉบับ 

122
กรอบของวิชาชีพ อีกทั้งเป็นผู้ยกระดับมาตรฐานวิชานิติศาสตร์ของเอเชียให้ทัดเทียม 
กับมาตรฐานวิชานิติศาสตร์ของตะวันตก สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีมติให้ได้รับ 
พระราชทานปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 

๒. ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ยูโกะ คิตากาว่า เป็นศัลยแพทย์ที่มีชื่อเสียง 
ระดับโลกในการผ่าตัด และการทำวิจัยในโรคของหลอดอาหาร เป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร 
และสมาคมวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่นถึง ๓๕ แห่ง ปัจจุบัน 
เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งโรงเรียนแพทย์เคโอ รับอาจารย์แพทย์จากมหาวิทยาลัย 
ธรรมศาสตร์เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก อีกทั้งเป็นอาจารย์พิเศษให้มหาวิทยาลัย 
ธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ นอกจากนี้ได้เชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัย 
เคโอมาสอนที่ประเทศไทยรวมแล้ว ๑๑ ท่าน ทำให้ศักยภาพในการเรียนการสอนและ 
การฝึกอบรมการดูแลรักษาโรคในระบบทางเดินอาหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สู่ความเป็นเลิศในทวีปเอเชีย สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีมติให้ได้รับพระราชทาน 
ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาศัลยศาสตร์) 

๓. ศาสตราจารย์คลินิกพิเศษ นายแพทย์เสรี ตู้จินดา เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 
พิเศษด้านเวชกรรม สาขากุมารเวช เป็นผู้อุทิศตนเองในการปฏิบัติหน้าที่ด้านการแพทย์
เพื่อให้ประชาชนทุกระดับได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน 
นอกจากนี้ เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการด้านการวิจัยของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต 
สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์ และ 
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัย 
ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สภามหาวิทยาลัย 
ธรรมศาสตร์จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขา 
วิชาชีวเวชศาสตร์ 

๔. ดร.พรธรรม ธรรมวิมล เป็นบุคคลตัวอย่างของวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรม 
ไทย เป็นภูมิสถาปนิกผู้บุกเบิกการปฏิบัติวิชาชีพ สังกัดกรมศิลปากร เป็นกำลังสำคัญ 
ในการพัฒนาประเทศและสร้างประโยชน์แก่สังคม ด้วยงานภูมิสถาปัตยกรรม ด้านการ 
อนุรักษ์ และสร้างสรรค์มรดกวัฒนธรรมไทย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และยอมรับใน 
ระดับชาติและนานาชาติ อาทิ งานวางผังบริเวณ งานภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่เชื่อมโยงผังเข้ากับ 
แกนสำคัญของเมืองและคติความเชื่อเรื่องภูมิจักรวาล และงานภูมิสถาปัตยกรรมที่มุ่ง 
แสดงพระอัจฉริยภาพ โดยใช้เรื่องราวจากโครงการพระราชดำริมาประยุกต์ในการ 

123
ออกแบบ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญา 
ภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 

๕. ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา 
ที่มุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงานพัฒนาการศึกษา ตลอดจนเสนอแนวทางในการพัฒนา 
นวัตกรรมการศึกษาผ่านหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ และผ่านทางผลงานวิชาการ และ 
งานเขียนจำนวนมาก มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีมติให้
ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาการเรียนรู้และ 
นวัตกรรมการศึกษา 

๖. ศาสตราจารย์ ดร.ชินโกะ ทาเคซาวา เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ ในด้าน 
การสอนและการวิจัย ที่มีประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์และการรักษาชีวิต 
ของผู้ป่วยทั่วโลก มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเสริมสร้าง และสนับสนุนเพื่อก่อให้เกิด 
ความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันต่าง ๆ ระหว่าง Kyushu University of Health 
and Welfare กับสถาบันการศึกษาทั่วโลก อีกทั้งมีบทบาทสำคัญในวงการอุตสาหกรรม 
การดูแลสุขภาพทั้งในระดับชาติและนานาชาติ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีมติให้
ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวคลินิก 

๗. ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์โมริตะ อะคิมิชิ เป็นอาจารย์แพทย์และแพทย์
ผิวหนังต้นแบบที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในงานวิชาการวิชาชีพแพทย์ โดยเฉพาะ 
อย่างยิ่งการรักษาโรคผิวหนังเรื้อรังโดยการฉายแสง เป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรม 
ทางการแพทย์อย่างเต็มเปี่ยม มีคุณูปการสูงและประจักษ์ชัดต่อวงการวิชาชีพ ได้รับ 
การยกย่องและได้รับรางวัลเกียรติยศต่าง ๆ มากมายเป็นที่ประจักษ์ต่อองค์กรทั้งใน 
และต่างประเทศ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญา 
วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาตจวิทยา 

๘. นายเทิดศักดิ์ อินแสง เป็นผู้ที่ประกอบสัมมาอาชีวะประสบความสำเร็จ 
ในการอนุรักษ์และพัฒนาผ้าทอโบราณ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาฝีมือการทอผ้าของ 
ช่างทอผ้าพื้นบ้าน เป็นนักจัดการทรัพยากรทางสังคมและวัฒนธรรม ที่นำเอาภูมิปัญญา 
การทอผ้าโบราณมารื้อฟื้นใหม่ และย้อนรอยการทอผ้าซิ่นโบราณของจังหวัดน่าน ให้เป็น 
แบบลักษณ์ผ้าทอของจังหวัดน่าน ที่ได้รับการพัฒนาอย่างมีอัตลักษณ์ ทำให้ผ้าทอ 
แบบแผนเดิมได้รับการอนุรักษ์ การสืบทอดและพัฒนาร่วมสมัย ที่นำไปสู่การสร้าง 
รายได้สร้างอาชีพแก่ช่างทอพื้นบ้านในจังหวัดน่านอย่างยั่งยืน สภามหาวิทยาลัย 

124
ธรรมศาสตร์จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 
สาขาวิชาสหวิทยาการสังคมศาสตร์ 

๙. พระครูภาวนาวิริยวัฒน์ (พระอาจารย์อารยวังโส) เป็นผู้มีปฏิปทาและความ 
วิริยะ มุ่งมั่นประกอบศาสนกิจเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา กลับคืนสู่ชมพูทวีปดินแดน 
กำเนิดพระพุทธศาสนา เป็นแบบอย่างแห่งการประพฤติตนที่มีวัตรปฏิบัติปฏิปทาตาม 
หลักพระธรรมวินัย มีความเข้าใจความหลากหลายทางสังคม ชนชั้น ศาสนา ความเชื่อ 
และลัทธิต่าง ๆ ของประชาชนอินเดียอย่างลึกซึ้ง มีผลงานเขียนที่เผยแพร่องค์ความรู้
ด้านอินเดียศึกษาอย่างโดดเด่น จึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง 
ชาวไทยและชาวอินเดียมายาวนานกว่าทศวรรษ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีมติ
ให้ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาอินเดียศึกษา 

ในวโรกาสนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชวโรกาสเบิกผู้ทรงคุณวุฒิ
เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ ตามลำดับ ดังนี้ 

ปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 
ศาสตราจารย์ ดร.แอนดรู เจมส์ ฮาร์ดดิ้ง 

ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศัลยศาสตร์ 
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ยูโกะ คิตากาว่า 

ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์ 
ศาสตราจารย์คลินิกพิเศษ นายแพทย์เสรี ตู้จินดา 

ปริญญาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 
ดร.พรธรรม ธรรมวิมล 

ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาการเรียนรู้และนวัตกรรม 
การศึกษา 
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช 

ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวคลินิก 
ศาสตราจารย์ ดร.ชินโกะ ทาเคซาวา 

ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาตจวิทยา 
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์โมริตะ อะคิมิชิ 

125
ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสหวิทยาการสังคมศาสตร์
นายเทิดศักดิ์ อินแสง 

สำหรับพระครูภาวนาวิริยวัฒน์ ซึ่งได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต 
กิตติมศักดิ์ สาขาวิชาอินเดียศึกษา สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จักนำปริญญาบัตร 
ไปถวายแด่พระครูภาวนาวิริยวัฒน์ ในโอกาสต่อไป 

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม 

126