พระราโชวาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2562 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันพฤหัสบดี ที่ 1 ตุลาคม 2563

วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2563

พระราโชวาท
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒
ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันพฤหัสบดี ที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๓
————————–

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒. ขอแสดงความยินดีชื่นชมต่อบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิที่มหาวิทยาลัยยกย่องเป็นเกียรติ.
เมื่อกล่าวถึงวิชาความรู้ มีการที่เกี่ยวข้องโดยตรงอยู่สองประการ คือ การศึกษาเล่าเรียน และการใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์. การที่บัณฑิตทั้งหลายได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียนสำเร็จการศึกษา
ได้รับปริญญาบัตรรับรองวิทยฐานะนี้ ได้ชื่อว่ามาแสวงหาทรัพย์. ปราชญ์แต่ก่อนสรรเสริญวิชาความรู้ว่า เป็นทรัพย์ที่ใช้ไม่หมดสิ้น ผู้อื่นแย่งชิงไปไม่ได้. เมื่อพิจารณาดูจะเห็นว่าทรัพย์คือความรู้นี้เป็นของประเสริฐจริง. สติปัญญาความรู้ของมนุษย์นี้ยิ่งใช้มากเท่าไรก็จะยิ่งมีมากขึ้น ไม่มีวันหมดสิ้นเหมือนทรัพย์สินเงินทอง หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ. เพราะฉะนั้นผู้เป็นบัณฑิตจึงพึงหาทรัพย์คือวิชาความรู้นี้ไว้ให้มาก ไม่ควรหยุดหาความรู้. ข้อนี้จะเป็นพื้นฐานอันมั่นคงในการใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป.
คำว่าใช้ความรู้ให้เป็น เป็นเรื่องสำคัญ. ความรู้ที่มีมากใช้ไม่เป็นก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น. ที่ว่าใช้ให้เป็นประโยชน์ คือ ต้องมีสติปัญญาเลือกใช้ความรู้ให้เหมาะแก่การณ์ กาลเทศะ บุคคล รู้เหตุรู้ผลของเรื่องนี้จะใช้ความรู้นั้น ๆ ไปจัดการ จึงจะใช้ความรู้ได้ถูกตรงเรื่องถูกต้องตามควร ไม่ผิดทำนองคลองธรรม เป็นประโยชน์ ไม่ให้ร้ายแก่ตนและผู้อื่น. อีกประการหนึ่ง คือ ต้องรู้จักประสานความรู้ ต้องรู้ตระหนักว่าวิชาความรู้ของตนเองฝ่ายเดียวนั้นไม่เกิดประโยชน์ที่แท้จริงได้ ต้องอาศัยความรู้ความสามารถของผู้อื่นด้วย. บัณฑิตจึงต้องมีใจเปิดกว้างรับความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อให้ทำการหรือแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยดี.
บัณฑิตผู้รู้จักศึกษาเล่าเรียน และใช้วิชาความรู้เป็นเช่นที่กล่าวมานี้ จึงจะนับว่าเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์เป็นที่น่าชื่นชมของสถาบัน เป็นที่น่ายินดีแก่ผู้ได้คบหาสมาคม ยังประโยชน์ส่วนตนและบ้านเมืองให้ไพบูลย์สืบไปได้.
ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออำนวยพรให้บัณฑิตทั้งปวงมีกำลังกายกำลังใจแสวงหาความรู้และใช้ความรู้เป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง สมดังพระราชประสงค์พระผู้สถาปนามหาวิทยาลัยอันทรงเกียรตินี้ และขอให้ท่านทั้งหลายในที่ประชุมนี้มีความสุขสวัสดีจงทั่วกัน.