พระโอวาท สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ประจำปีการศึกษา 2558 – 2559

วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

สำเนา
พระโอวาท
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้
ประจำปีการศึกษา 2558 – 2559
ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่
วันเสาร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติ
พระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปีนี้
ขอแสดงความยินดีกับผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้รับเกียรติในครั้งนี้ ทั้งขอแสดงความชื่นชมกับบัณฑิตใหม่
ทุกคน ที่พากเพียรเล่าเรียนวิชาความรู้จนสำเร็จการศึกษา
ทุกท่านย่อมทราบโดยทั่วกันว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการเกษตร พระองค์มีแนวพระราชดำริว่า
ความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของภาคการเกษตรเป็นสำคัญ การเกษตรจึงเป็นเสมือน
หัวใจของชาติ แต่ปัญหาประการหนึ่งของเกษตรกรไทย ก็คือขาดการบริหารจัดการที่ดินทำกิน
พระองค์จึงพระราชทานแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรสามารถใช้ที่ดิน
ที่มีอยู่อย่างจำกัดทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทรงประยุกต์ดัดแปลงให้เกิดการเกษตร
แบบผสมผสาน เป็นไร่นาสวนผสม มีการเพาะปลูกควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์และการประมง
ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำ ที่ดิน และแรงงาน ให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
ของเกษตรกร
การทำเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่นี้ กำหนดไว้เป็นสามขั้นตอน
ขั้นที่หนึ่ง เป็นการจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็กออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน โดยให้แบ่งพื้นที่ออกเป็นสี่ส่วน
ส่วนที่หนึ่ง ขุดสระน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง ส่วนที่สอง ใช้เป็นที่นาสำหรับ
ปลูกข้าว ส่วนที่สาม ใช้เป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่พืชสวน ส่วนที่สี่ ใช้เป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย
และสร้างโรงเรือนเพื่อเลี้ยงสัตว์หรือประกอบกิจกรรมอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น หากเกษตรกรมีที่ดิน
15 ไร่ ให้แบ่งเป็นนาข้าว 5 ไร่ ปลูกพืชไร่พืชสวน 5 ไร่ ขุดสระน้ำลึก 4 เมตร 3 ไร่
และใช้เป็นที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ 2 ไร่
จะเห็นได้ว่า แนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ แม้เพียงในขั้นที่หนึ่งนี้ ก็เป็นแนวทาง
ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถพึ่งตนเอง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคง และมีความพร้อมที่จะรับสถานการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต ในฐานะที่บัณฑิตทั้งหลายได้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัย

/ที่มีชื่อเสียง…

 

ที่มีชื่อเสียงด้านความเชี่ยวชาญทางการเกษตร ตลอดจนศาสตร์สำคัญหลายสาขา จึงควรศึกษา
แนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ให้เข้าใจ แล้วน้อมนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสภาพพื้นที่ในท้องถิ่น หากทำได้ดังนี้
แต่ละคนก็จะเป็นกำลังสำคัญที่จะร่วมกันพัฒนาภาคการเกษตรของชาติให้มีความเข้มแข็งมั่นคง
สืบไปได้ดังประสงค์
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตใหม่ทุกคนประสบแต่ความสุข
ความเจริญ ทั้งขอให้ทุกท่านที่มาร่วมประชุมในที่นี้ มีแต่ความผาสุกสวัสดีจงทั่วกัน