วันพุธ ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2566

วันพุธที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2566

ข่าวในพระราชสำนัก

พระบรมมหาราชวัง

วันพุธ  ที่  ๒๓  สิงหาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๖

 

วันนี้ เวลา ๑๘.๓๗ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี

เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายกมูลนิธิ
ราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิ ฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารมูลนิธิ ฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสครบ ๖๐ ปี วันพระราชทานกำเนิด
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี

พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายพลากร  สุวรรณรัฐ องคมนตรี นายกมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานการดำเนินงานของมูลนิธิ ฯ และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเข็มเครื่องหมายมูลนิธิ ฯ เหรียญทองคำที่ระลึก ฯ และหนังสือที่ระลึกครบ ๖๐ ปี วันพระราชทานกำเนิดมูลนิธิ ฯ
แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเรือเอก พงษ์เทพ  หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเข็มเครื่องหมายมูลนิธิ ฯ เหรียญทองคำที่ระลึก ฯ และหนังสือที่ระลึกครบ ๖๐ ปี วันพระราชทานกำเนิดมูลนิธิ ฯ แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี  จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลอากาศโท ภักดี
แสง-ชูโต เลขาธิการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ  เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  กราบบังคมทูลเบิกคณะกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
ประจำจังหวัด และเจ้าหน้าที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ ที่ปฏิบัติงานเกิน ๑๐ ปี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
รับพระราชทานเข็มตราเครื่องหมายมูลนิธิ ฯ  ต่อจากนั้น เบิกผู้มีอุปการคุณที่ให้การสนับสนุนมูลนิธิ ฯ
และผู้แทนมหาวิทยาลัยที่ให้การสนับสนุนทุนการศึกษา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ

ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาท เพื่อความเป็นสิริมงคล

แก่คณะผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๐๕

จากเหตุการณ์วาตภัยพายุโซนร้อนแฮเรียต ที่พัดเข้าทางพื้นที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช  ความแรงของพายุทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนของประชาชน  และประชาชนจำนวนมาก
ต้องกลายเป็นผู้ประสบภัย ได้รับความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อความทรงทราบฝ่าละออง
ธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถานีวิทยุ อ.ส. ออกประกาศเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์และสิ่งของ
เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าว และพระราชทานเงินแก่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำไปสร้างโรงเรียนประชาบาล
จำนวน ๑๒ โรงเรียนในพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีสถานที่ศึกษา  และพระราชทานชื่อในภายหลังว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ หมายเลข ๑ ถึง ๑๒ ตามลำดับ เมื่อได้นำเงินบริจาคช่วยเหลือประชาชน
ในระยะแรกแล้ว  ยังคงเหลือเงินอีก ๓ ล้านบาท   พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

 

/ บรมนาถบพิตร …

 

 

– ๒ –

 

บรมนาถบพิตร จึงพระราชทานเงินดังกล่าวเป็นทุนประเดิมก่อตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๐๖  โดยชื่อพระราชทาน
ของมูลนิธิ ฯ มีความหมายว่า “พระราชา” และ “ประชาชน” อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน

ต่อมาเมื่อปี ๒๕๖๐  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ทรงรับมูลนิธิ ฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์  และทรงดำรงตำแหน่ง “พระบรมราชูปถัมภก” แห่งมูลนิธิราชประชา
นุเคราะห์ ฯ ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และพระราชทานแนวทางการปฏิบัติ
ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เป็นระบบ รวดเร็ว และไม่ซ้ำซ้อน  โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิ ฯ เชิญสิ่งของและเครื่องอุปโภคบริโภคพระราชทาน ไปมอบแก่ประชาชนผู้ประสบภัย
ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในปี ๒๕๖๖  มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริครบ ๖๐ ปี

โดยสามารถช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบภัยต่าง ๆ ไปแล้วกว่า ๕,๑๖๗,๖๗๓ ครอบครัว และช่วยเหลือ
ประชาชนกว่า ๑๘,๖๕๑,๗๒๐ คน ในด้านการศึกษา  ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน ๙ แห่ง
ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ  เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์เพิ่มเติม ทรงให้การสนับสนุนกิจการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ทั้ง ๖๗ โรงเรียน  พระราชทานโอกาสทางการศึกษาสูงสุดตามความสามารถของนักเรียน  โดยไม่มีข้อผูกมัดแก่
เด็กกำพร้าที่สูญเสียบิดาและมารดา หรือขาดผู้อุปการะจากสาธารณภัย  รวมถึงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙  โดยทรงรับเป็นนักเรียนทุนพระราชทานเพื่อการศึกษาสงเคราะห์
ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนกว่า ๔,๗๘๗ คน

อนึ่ง ในโอกาสครบ ๖๐ ปี วันพระราชทานกำเนิด มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกโลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา ๒๐ บาท ด้านหน้าเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรม
ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ด้านหลัง
มีตราสัญลักษณ์มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ พร้อมข้อความแสดงการครบ ๖๐ ปี และมูลค่าของเหรียญ
จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ เหรียญ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานกำเนิดมูลนิธิ และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระบรมราชูปถัมภก เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถแลกเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกดังกล่าว  ได้ที่
กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

เวลา  ๑๐.๓๐  น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้
พลเอก สุรยุทธ์  จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ ณ หอประชุมสิริวรปัญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

ในวันเดียวกันนี้  เวลา  ๑๔.๓๐  น.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
โปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์  จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปมอบปริญญาบัตร
แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔
ณ หอประชุมสิริวรปัญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

 

/ อนึ่ง …

 

– ๓ –

 

อนึ่ง เมื่อวันอังคาร ที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๘.๐๐ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน
รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากเรือนรับรองที่ประทับ
อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง โครงการชลประทานสุรินทร์ สำนักงานชลประทานที่ ๘ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
ไปทรงติดตามการดำเนินโครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ณ สระน้ำสาธารณะบ้านหนองผำ และศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์
ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึงสระน้ำสาธารณะบ้านหนองผำ พระราชทานพระราชวโรกาสให้
นายประวิทย์  บุญมี ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลรายงานการดำเนินงานโครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ตำบลหนองฮะ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์  ปัจจุบันมีสมาชิกจากจังหวัดต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์
จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ผลิตพันธุ์ข้าวพระราชทาน จำนวน ๔,๕๗๑ ไร่  จากนั้น ทรงติดตาม
การดำเนินงานและมีพระราชปฏิสันถารกับสมาชิกกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ พระราชทาน

“เพื่อนช่วยเพื่อน” ๓ กลุ่มในพื้นที่ตำบลหนองฮะ ตำบลเกาะแก้ว และตำหนองไผ่ล้อม อำเภอสำโรงทาบ
จังหวัดสุรินทร์  ในการนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ สมาชิกกลุ่ม ฯ ตำบลหนองฮะ เฝ้าทูลละอองพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโค และกระบือ ที่เกิดจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ใน “โครงการโคกระบือพระราชทาน”
แล้วพระราชทานโค และกระบือแก่สมาชิก เพื่อนำไปเลี้ยง และนำมูลไปเป็นปุ๋ยบำรุงดิน เพื่อลด ละ เลิกการใช้สารเคมี โดยปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเวชภัณฑ์สำหรับดูแลรักษาโรคโคกระบือด้วย
ในโอกาสนี้ พระราชทานพระราชดำรัสแก่สมาชิกกลุ่ม ฯ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป

ในวันเดียวกันนั้น เวลา ๑๐.๓๘ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
ตำบลสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์  ในโอกาสนี้  ทรงวางพวงมาลัยสักการะพระรูป พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ  จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานผลิต และเก็บสำรองเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ซึ่งในปี ๒๕๖๖ ได้พระราชทานพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ แก่ราษฎรที่ประสบภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดบุรีรัมย์
จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดยโสธร และจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อนำไปเพาะปลูกในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน
และทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” พระราชทาน
กิ่งพันธุ์ไม้ผลพันธุ์ดี  โครงการการใช้กากเมล็ดชาน้ำมันพระราชทาน กำจัดหอยเชอรี่  โครงการส่งเสริมด้านปศุสัตว์แก่ชุมชน โดยแนะนำการดูแลสุขภาพสัตว์ และสนับสนุนการผสมเทียมโคและกระบือพระราชทาน เป็นต้น  ต่อจากนั้น ทอดพระเนตรวีดิทัศน์ “นิทานจันกะผัก” ตอนพริกปู่เมธ ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนา จัดทำการ์ตูนสื่อผสมออนไลน์ เพื่อเผยแพร่เรื่องราวการคัดเลือกพันธุ์พืช ผ่านเว็บไซต์ของมูลนิธิ ฯ ในการนี้ พระราชทานรางวัลแก่สมาชิก
กลุ่มผู้ผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ที่สามารถผลิตพันธุ์ข้าว ฯ ผ่านเกณฑ์
เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทาน ในโอกาสนี้ พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะทำงาน และสมาชิกกลุ่ม ฯ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานต่อไป สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ เรือนรับรองที่ประทับ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง โครงการชลประทานสุรินทร์ สำนักงานชลประทานที่ ๘ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์