วันพฤหัสที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2560

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2560

ข่าวในพระราชสำนัก
พระบรมมหาราชวัง
วันพฤหัสบดี ที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

วันนี้ เวลา ๑๑.๒๕ น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลโท ฐิตะฐาน สุขศรี เป็นผู้แทนพระองค์ พร้อมด้วยคณะมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค ไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอคีรีมาศ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองจิก และโรงเรียนบ้านตะเข้ขานสามัคคีวิทยา ตำบลสามพวง
อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย
อนึ่ง เมื่อวันพุธ ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๘.๔๕ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากเรือนรับรองที่ประทับ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง โครงการชลประทานสุรินทร์ สำนักชลประทานที่ ๘ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ไปยังสนาม
เฮลิคอปเตอร์ชั่วคราวอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง เพื่อประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไป
ทรงติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มผู้ผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน”
หนองจระเข้เผือก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์
มูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการสนองพระราชดำริในการสำรองพันธุ์ข้าวหอมมะลิไว้ในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉิน
สืบเนื่องจากอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี ๒๕๕๖ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ทำนาข้าวหอมมะลิในพื้นที่อำเภอลำปลายมาศ และอำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี จึงพระราชทานพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ ที่มูลนิธิชัยพัฒนาเก็บสำรองไว้ นำไปช่วยเหลือเกษตรกร และมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพสำรองไว้ใช้ในภาวะวิกฤต
ปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” มีสมาชิกทั้งสิ้น ๘๐ คน
ทำนาในพื้นที่ ๕๓๔ ไร่ ด้วยวิธีปักดำและเก็บเกี่ยวด้วยมือ เพื่อป้องกันการปะปนของข้าวพันธุ์อื่น
พร้อมตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างเข้มงวด ในการนี้ มีพระราชดำริให้นำแผงพลังงานแสงอาทิตย์
มาใช้กับเครื่องสูบน้ำแทนการใช้น้ำมันเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งมีพระราชดำรัสแก่สมาชิกกลุ่ม ฯ ด้วย
ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำทุ่งใหญ่ อำเภอ
ลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งกรมชลประทานดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งให้แก่ราษฎรในพื้นที่
โดยขุดลอกอ่างเก็บน้ำลึก ๒ เมตร ขนาดพื้นที่ ๗๖๐ ไร่ แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ สามารถกักเก็บ
น้ำได้ประมาณ ๒.๑ ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ ๒๒๙ ราย โอกาสนี้ทรงปล่อยปลาตะเพียน และปลานิล ลงอ่างเก็บน้ำ ฯ แล้วทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ พร้อมมีพระราชดำริ
ให้กรมชลประทานก่อสร้างอาคารบังคับน้ำบ้านแท่นพระ ตำบลหนองคู อำเภอลำปลายมาศ ขึ้นใหม่ทดแทน
อาคารเดิมที่เสียหายเมื่อปี ๒๕๕๘ เพื่อช่วยกักเก็บน้ำให้ราษฎรได้มีน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

/ในช่วงบ่าย…

– ๒ –

ในช่วงบ่าย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง
มณฑลทหารบกที่ ๒๖ ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ทอดพระเนตรความก้าวหน้ากิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษของกำลังพล ในโครงการทหารพันธุ์ดี ซึ่งเป็นความร่วมมือ
ระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนากับมณฑลทหารบกที่ ๒๖ จัดทำขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๙ เพื่อสนองแนวพระราชดำริในการ
ส่งเสริมให้กำลังพลของกองทัพ มีความรู้ในการปลูกผักปลอดสารพิษไว้บริโภค เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน
และจำหน่ายเมื่อเหลือบริโภค โดยจัดสรรพื้นที่ว่างเปล่าขนาดประมาณ ๒ ไร่ ในค่าย ฯ ไว้ดำเนินกิจกรรม
การนี้ พระราชทานเมล็ดพันธุ์ผัก ไก่พื้นเมือง และไก่กระดูกดำ แก่โครงการ ฯ เพื่อให้เพาะขยายพันธุ์ต่อไป
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการ “ซแรย์ อทิตยา” ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำ
อำปึล อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ในโอกาสนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ
เฝ้าทูลละอองพระบาท รับเสด็จ ทั้งนี้ โครงการ “ซแรย์ อทิตยา” เดิมชื่อ “โครงการพิเศษจังหวัดสุรินทร์”
ซึ่งพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ มีพระดำริให้จัดตั้งขึ้นภายใต้โครงการเกษตรอทิตยาทร
ต่อมา ได้ประทานชื่อเป็นภาษาเขมรท้องถิ่นว่า “ซแรย์ อทิตยา” แปลว่า “นาของพระเจ้าหลานเธอ
พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ” พร้อมประทานสัญลักษณ์ประจำโครงการฯ เป็นอักษร “อ” สีม่วง
ล้อมรอบด้วยลายกนกและรวงข้าวสีทองในรูปหยดน้ำ สื่อความหมายถึงพระปณิธานและน้ำพระทัย
ที่จะพัฒนาการเกษตร ความร่มเย็นและความอุดมสมบูรณ์ การนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้เกษตรกร เฝ้าทูลละอองพระบาท น้อมเกล้า
น้อมกระหม่อมถวายโคและกระบือ เพื่อใช้ในโครงการ ฯ เสร็จแล้ว ทอดพระเนตรนิทรรศการ
ฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ อาทิ ความรู้เรื่องวัฒนธรรมข้าวและการผลิตเมล็ดพันธุ์ การรักษาและฟื้นฟูดิน
ด้วยวิธีธรรมชาติ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งการแปรรูปข้าวเพื่อเพิ่มคุณค่าสารอาหารและเพิ่มมูลค่า
ทางเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ สมควรแก่เวลา จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับเรือนรับรองที่ประทับ อ่างเก็บน้ำ
ห้วยเสนง โครงการชลประทานสุรินทร์