วันพฤหัสบดี ที่ 27 เมษายน พ.ศ.2560

วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ.2560

ข่าวในพระราชสำนัก
พระบรมมหาราชวัง
วันพฤหัสบดี ที่ ๒๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐

วันนี้ เวลา ๐๙.๐๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง
ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายอาเดล ยูซุฟ ซาตีร์
(Mr. Adel Yousif Sater) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรบาห์เรนประจำประเทศไทย เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลลา ในโอกาสที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่
เวลา ๑๗.๐๘ น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชทาน
น้ำหลวงอาบศพ ท่านผู้หญิงประสานสุวรรณ สุวรรณรัฐ ท.จ.ว.,ต.ช.,ต.ม.,ภ.ป.ร.๔ และทรงวางพวงมาลาหลวงที่หน้าโกศศพ ณ ศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
เวลา ๑๑.๐๕ น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทิ นัดดามาตุ เสด็จไป
ทรงเปิดการประชุมสัมนาการสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ครั้งที่ ๒๒ เรื่อง “ไทยแลนด์ ๔.๐ ขับเคลื่อนสวัสดิการสังคมไทยก้าวไกล” ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่
กรุงเทพมหานคร
เวลา ๑๕.๐๐ น. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ เสด็จไปทรงหล่อพระประธาน องค์พระแบบสมัยเชียงแสน พระพักตร์แบบสมัยสุโขทัยและพระกริ่ง กับเหรียญพิมพ์เจ้าสัว รุ่นมังกรทอง
ณ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
เวลา ๑๐.๐๐ น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศล ๑๐๐ วัน พระราชทานศพ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ม.ป.ช.,ม.ว.ม. อดีตองคมนตรี ณ ศาลาบัณณรศภาค วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ในวันเดียวกันนี้ เวลา ๑๗.๐๐ น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
โปรดกระหม่อมให้ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ นางรสสุคนธ์ ภูริเดช ป.ช.,ป.ม. และวางพวงมาลาหลวง พวงมาลาพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า
พัชรกิติยาภา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ที่หน้าโกศศพ ณ ศาลา ๑๐๐ ปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
อนึ่ง เมื่อวันพุธ ที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๐ เวลา ๐๗.๓๙ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากวังสระปทุม ไปยังท่าอากาศยานกองบัญชาการกองทัพอากาศดอนเมือง เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานบุรีรัมย์ อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ จากนั้นประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังอ่างเก็บน้ำหนองกุดใหญ่ ตำบลหนองเต็ง อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ทรงเปิดแพรคลุมป้าย “ตามรอยพระบาท รัชกาลที่ ๙

/ธ สถิตในใจ…

– ๒ –
ธ สถิตในใจไทยประชา รอยยาตรายังจารึก” และทอดพระเนตรนิทรรศการการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ
หนองกุดใหญ่ ซึ่งเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนิน มาทรงเยี่ยมราษฎร ที่อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ทรงเห็นถึง
ความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎรในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะจากปัญหาเรื่องน้ำ ที่มีมานานกว่า ๕๐ ปี
ได้พระราชทานแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ และมีพระราชดำริให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหนองกุดใหญ่ ขึ้นในปี ๒๕๒๓ ต่อมาอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ประสบปัญหาตื้นเขิน และไม่มีระบบกระจายน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร ทำให้เกษตรกรรุกเข้ามาในพื้นที่ จนทำให้ราษฎรประสบปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งมาอย่างต่อเนื่อง ในปี ๒๕๕๗ สภาเกษตรกรจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงร่วมกันพัฒนาอ่างเก็บน้ำหนองกุดใหญ่ กันแนวเขตและรักษาพื้นที่หนองน้ำสาธารณประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำและการระบายน้ำ รวมทั้งขุดคลองส่งน้ำเชื่อมกับอ่างเก็บน้ำกับหนองน้ำในพื้นที่
เพื่อเป็นทางผันน้ำและระบายน้ำ พร้อมทั้งขุดคลองสำหรับกระจายน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร ๒ สาย สามารถกันแนวเขตและรักษาพื้นที่หนองน้ำสาธารณประโยชน์ ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำได้สูงถึง ๑ ล้าน ๓ แสนลูกบาศก์เมตร
ในโอกาสนี้ ทรงปล่อยพันธุ์ปลานิล จำนวน ๖๓ ตัว ลงในอ่างเก็บน้ำหนองกุดใหญ่ เพื่อแพร่พันธุ์และเป็นแหล่งอาหารโปรตีนต่อไป ในการนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นางสาวทรรศนาวรรณ ศิริรัมย์
และนายสำรวม กกรัมย์ ราษฎร หมู่ที่ ๔ ตำบลหนองเต็ง เฝ้าทูลละอองพระบาทน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายกระบือเพศเมียจำนวน ๒ ตัว อายุ ๑๕ เดือน และ ๑๘ เดือน เพื่อพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย
จากนั้น ทรงเปิดแพรคลุมป้ายสถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ ซึ่งเป็นสถานี
โทรมาตรรุ่นที่ ๔ ที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ได้นำเทคโนโลยีโทรมาตรจากประเทศญี่ปุ่นมาพัฒนาและปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย โดยนำมาติดตั้ง
ที่ริมอ่างเก็บน้ำหนองกุดใหญ่ เป็นสถานีแรกในประเทศไทย เพื่อสนองแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จ
พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเห็นความสำคัญของระบบตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติว่ามีประโยชน์อย่างมากในการบริหารจัดการน้ำและการป้องกันภัยพิบัติของประเทศ เสร็จแล้วทอดพระเนตรแปลงตัวอย่างเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ ที่มีเกษตรกรเข้าร่วมเป็นสมาชิก ๑๐ คน
ในการปลูกและดูแลแปลงเกษตรฯ ซึ่งประกอบด้วย ๓ กลุ่ม คือ คุ้มกุดใหญ่ คุ้มทุ่งชะมด และคุ้มโคกขมิ้น
โดยสมาชิกทุกคนได้นำกระบวนการเรียนรู้การจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยใช้พื้นที่สาธารณะริมอ่างเก็บน้ำหนองกุดใหญ่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อขยายผลไปสู่แปลงเกษตรของตนเองและชุมชน เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมในครัวเรือน
เวลา ๑๓.๐๒ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน
ไปยังพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ บ้านลิ่มทอง ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ทอดพระเนตรนิทรรศการการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ซึ่งบ้านลิ่มทองแห่งนี้เป็นพื้นที่ประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำธรรมชาติและระบบชลประทาน เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘

/ชุมชนบ้าน…

– ๓ –

ชุมชนบ้านลิ่มทองจึงรวมกลุ่มสำรวจพื้นที่หาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบัน สารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้นำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ ได้แก่ ระบบสระพวง
โดยเกษตรกรในชุมชนร่วมกันสละที่ดินของตนเอง ขุดคลองดักน้ำหลากและขุดสระน้ำแก้มลิงให้เป็นพื้นที่
กักเก็บน้ำ เพื่อให้เชื่อมต่อกับสระน้ำประจำไร่นา ผ่านคลองซอยที่ขุดเพิ่ม ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างถนน ที่แต่เดิมมีน้ำหลากเป็นประจำให้เป็นถนนน้ำเดิน
เพื่อรองรับน้ำฝนและส่งน้ำที่หลากท่วมไปยังสระน้ำแก้มลิงที่อยู่ปลายทาง ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมเข้าบ้านเรือน และยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง มีที่สำคัญทำให้แรงงานคืนถิ่น ความสำเร็จดังกล่าวยังได้ขยายผลไปสู่ ๖ ตำบลของอำเภอนางรอง ได้แก่ ตำบลหนองทองลิ่ม ตำบลทุ่งแสงทอง ตำบลชุมแสง ตำบลลำไทรโยง
ตำบลนางรอง และตำบลบ้านสิงห์
ในการนี้ ทอดพระเนตรแปลงทฤษฎีใหม่ของชาวบ้านในพื้นที่ อาทิ นางทองม้วน รังพงษ์
ที่เริ่มทำเกษตรทฤษฎีใหม่เมื่อ ๒๕๕๕ แบ่งพื้นที่ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักหมุนเวียน นับเป็นหนึ่งในตัวอย่าง
การดำเนินงานเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการบริหารจัดการน้ำและวางแผน
การเพาะปลูกอย่างเหมาะสม ทำให้มีรายได้อย่างยั่งยืน จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังหนองทองลิ่ม “สระดักน้ำหลาก” ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะของบ้านลิ่มทอง เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ที่ชุมชนบ้านลิ่มทองได้พัฒนาระบบกระจายน้ำ ประกอบด้วยการทำนาในฤดูฝน (นาปี) และใช้ทำการเกษตรผสมผสานในฤดูแล้ง ทำให้มีน้ำใช้เพียงพอต่อความต้องการในฤดูแล้ง ในการนี้ ทรงปล่อย ปลานิลและปลาตะเพียนลงในหนองทองลิ่ม เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่แหล่งน้ำ
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการทำงาน
ของรถแทรกเตอร์ ที่ได้พระราชทานให้ชุมชนบ้านลิ่มทองไว้ใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตร เป็นรุ่นพิเศษ
มีความเหมาะสมกับพื้นที่ทำการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความคล่องตัว ประหยัดน้ำมัน
และเครื่องยนต์ทนความร้อนได้ดี สามารถใช้งานได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง จากนั้น ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านหนองทองลิ่ม อาทิ ข้าวเกรียบฟักทอง ทองม้วน หมูกระจก กล้วยกรอบไร้น้ำตาล ข้าวกล้องหอมมะลิ และข้าวกล้องฮาง และผลิตภัณฑ์ของศูนย์เรียนรู้ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธกส. จังหวัดบุรีรัมย์ อาทิ ข้าวเม่า ทองม้วนไรซ์เบอรี่และน้ำตาลอ้อย ต่อมา เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรป่าเฉลิมพระเกียรติ ๗๐ พรรษา โครงการสร้างป่าสร้างงาน หรือ สวนป่าชุมชน บ้านหนองทองลิ่ม ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่สาธารณะที่เสื่อมโทรม เนื่องจากชาวบ้านบุกรุกแพ้วถางป่า เพื่อนำไม้ไปใช้สอยและใช้ที่ดิน
ที่ทำกิน หลังจากสถานการณ์การเมืองปี ๒๕๑๙ ต่อมาเมื่อปี ๒๕๔๒ เกิดฝนแล้งอย่างรุนแรง พืชผลเสียหาย ชาวบ้านไม่มีรายได้ เกิดความขาดแคลนทั้งหมู่บ้าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. สาขานางรอง และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ร่วมกันทำโครงการสร้างป่าสร้างงาน ส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณให้ชาวบ้านปลูกและดูแลป่าแห่งนี้ ปัจจุบัน ป่าชุมชนบ้านหนองทองลิ่ม มีการปลูกต้นไม้

/และบำรุงรักษา…

– ๔ –

และบำรุงรักษามาอย่างต่อเนื่อง มีพันธุ์พืชและสัตว์ป่าอยู่เป็นจำนวนมาก ถือเป็นมรดกที่สำคัญของคนในชุมชน และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านทั้งในและนอกชุมชน ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ และได้คัดเลือกไม้ที่เป็นพันธุ์ไม้พื้นถิ่น
มาปลูก ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เรื่อง การปลูกป่า
๓ อย่าง ได้ประโยชน์ ๔ อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ได้แก่ สะเดา ไม้ไผ่ ไม้เต็ง ไม้ตะแบก ไม้กินได้ ได้แก่ ไม้ผล ไม้ใบ
ผัก และสมุนไพรต่าง ๆ ไม้เศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้ที่ปลูกไว้ขาย และประโยชน์อย่างที่ ๔ คือ ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ
ทั้งนี้ ในด้านสุขภาพ หากชาวบ้านเจ็บป่วย เป็นโรคที่ไม่รุนแรง ให้ดูแลสุขภาพด้วยการกินอาหารเป็นยา
ตามฤดูกาล นอกจากนี้ มีสมุนไพรนานาชนิด ที่สามารถนำไปรักษาตามอาการได้ อาทิ กำแพงเจ็ดชั้น
หรือ ตาไก้ ใช้บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง ฟอกโลหิต แก้เบาหวาน ย่านาง ช่วยเผาผลาญไขมัน ลดความดันโลหิตสูง บำรุงรักษาตับและไต โปร่งฟ้า หรือ ล่องฟ้า ช่วยต้านมะเร็ง แก้ความจำเสื่อม เลิกบุหรี่ และอัมพาต จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนบ้านหนองทองลิ่ม ตำบล หนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ทอดพระเนตรแปลงเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อ ๒๕๕๕ เพื่อจัดอาหารกลางวันให้กับนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการ และนักเรียนที่ขาดแคลน มีการขยายความรู้เรื่องโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปยังหมู่บ้าน โรงเรียนฯ เพื่อจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัว อาทิ บวบ ผักบุ้ง มะเขือเทศ พริก ไม้ผล อาทิ กล้วย ฝรั่ง มะพร้าว เพาะเห็ดนางฟ้า เลี้ยงกบ ปลาดุก จนสามารถนำผลผลิตมาประกอบอาหารกลางวันได้อย่างพอเพียง ลดปริมาณการจัดซื้อจากภายนอก เมื่อเหลือนำไปจำหน่ายยังชุมชน และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ กล้วยฉาบ ไข่เค็มจอมปลวก น้ำพริกเผาปลาป่น และเห็ดสามรส จำหน่ายในสหกรณ์โรงเรียนและสหกรณ์หมู่บ้าน จากการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน นักเรียนมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น ส่งผลให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานบุรีรัมย์ เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร