วันพฤหัสที่ 6 กันยายน พ.ศ.2561

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ.2561

ข่าวในพระราชสำนัก
พระบรมมหาราชวัง
วันพฤหัสบดี ที่ ๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑

วันนี้ เวลา ๐๘.๔๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง
ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายณัฐพล และ
นางศรีวพร มาแต้ม และครอบครัว เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน เพื่อสมทบ
ทุนมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายทุเรียน
เวลา ๐๙.๐๗ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ทรงเป็นประธานพิธีไหว้ครูของคณะเจ้าหน้าที่ ครู
และช่างศิลปาชีพ สถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)
กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง)
ประจำปี ๒๕๖๑
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
โปรดกระหม่อมให้จัดตั้งสถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา (ซึ่งเดิมชื่อ โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา) เป็นสถานที่
ฝึกอบรมงานศิลปหัตถกรรมขั้นสูงให้แก่ช่างสถาบันสิริกิติ์ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยทรงคัดเลือก
ลูกหลานชาวนา ชาวไร่ ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ มาฝึกหัดพัฒนาให้มีอาชีพเสริมจากงานฝีมือ
ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน พร้อมกับการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปหัตถกรรมจากงานฝีมือที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน พร้อมกับการอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมอันงดงามของไทยที่เกือบจะสูญหายไปตามกาลเวลาให้เป็นสมบัติ “ศิลป์” ของชาติ ของแผ่นดิน สืบต่ออนุชนรุ่นหลัง สมดังพระราชปณิธาน
เวลา ๑๐.๒๙ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง
ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และคณะผู้ดำเนินงานจัดการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๒๐ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี นำ ผู้ชนะเลิศการแข่งขัน เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลรายงานผลการจัด
การแข่งขัน ฯ
อนึ่ง เมื่อวันพุธ ที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๐๘.๐๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากเรือนรับรองที่ประทับอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง
โครงการชลประทานสุรินทร์ สำนักชลประทานที่ ๘ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ไปทอดพระเนตร
สระน้ำสาธารณะพระราชทานบ้านหนองพรม อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ตื้นเขิน ทำให้
การระบายน้ำและการส่งน้ำไปสู่พื้นที่การเกษตรไม่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับเป็นดินโคลน มีวัชพืช
ขึ้นปกคลุมเป็นจำนวนมาก ทำให้เก็บกักน้ำได้น้อย เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณขุดลอก
สระน้ำสาธารณะพระราชทาน ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ ทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้ ๑๒๖,๐๒๔
ลูกบาศก์เมตร ราษฎรได้รับประโยชน์ จำนวน ๒,๑๒๕ ราย พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ จำนวน ๔,๘๑๒ ไร่
ในโอกาสนี้ ทรงติดตามการดำเนินโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา
ศูนย์เพาะเลี้ยงปลานิลจิตรลดา จังหวัดนครนายก และโครงการ “รวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม” จังหวัดลพบุรี
/จากนั้น…..

– ๒ –

จากนั้น ทรงพระดำเนินเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎร
อย่างทั่วถึง ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” บ้านเกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเมื่อปี ๒๕๖๐ มีสมาชิกทั้งหมด ๕๕ ราย
พื้นที่เพาะปลูก ๒๙๙ ไร่ มูลนิธิชัยพัฒนารับซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ เพื่อนำไปสีเป็นข้าวสารตรา “จันกะผัก” นอกจากนี้ เมื่อปี ๒๕๖๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานขุดสระน้ำใหม่ ปลานิลจิตรลดา พันธุ์ไม้ผล และไก่กระดูกดำ เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ดำเนินการผลิตและเก็บสำรองเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ พระราชทาน ส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งในการเพาะปลูกข้าว เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิให้ได้มาตรฐาน
ปัจจุบันมีสมาชิก ๑๑ กลุ่ม ๘ อำเภอ ในจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ มีสมาชิกทั้งหมด ๔๑๑ ราย
ในตอนบ่าย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไป
ทรงติดตามความก้าวหน้าโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเริ่มดำเนินการ
เมื่อปี ๒๕๕๙ เป็นโครงการในพระราชดำริ ฯ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชประสงค์ให้อำเภอศีขรภูมิ มีพื้นที่ปลูกผลไม้ไว้รับประทาน เป็นการสร้างความสามัคคีให้แก่ราษฎร จากนั้น ทอดพระเนตร
การดำเนินการโครงการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมเสื่อกก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้หลักการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างปราชญ์ท้องถิ่นช่วยพัฒนาการย้อม การพิมพ์ การตกแต่งผิวหน้า การทอ และการออกแบบ เสร็จแล้ว
เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการส่งเสริมการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ บ้านกันโจรง อำเภอจอมพระ
จังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี ๒๕๕๖ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้
ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ดำเนินงานร่วมกับกรมหม่อนไหม ส่งเสริมการทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ ในการพัฒนาโครงการ ฯ ปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมในการพัฒนาโครงการ ฯ ๓ กลุ่ม มีสมาชิกทั้งหมด
๒๗ ราย จากนั้น ทรงติดตามการดำเนินงานกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน บ้านกันโจรง ที่ร่วมกับมูลนิธิ
ชัยพัฒนา คัดเลือกพันธุ์ข้าวเพื่อนำมาเป็นพันธุ์ข้าวพระราชทาน มีเกณฑ์มาตรฐานสูง ปัจจุบัน กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิพระราชทาน บ้านกันโจรง มีสมาชิกทั้งหมด ๒๑ ราย ในโอกาสนี้ ทรงมีพระราชปฏิสันถารพระราชทานขวัญและกำลังใจแก่ราษฎรที่เข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิพระราชทาน ให้เกิดความมานะ ตั้งใจ เพื่อให้เป็นพันธุ์ข้าวคุณภาพดี สำหรับช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัย ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสระน้ำสาธารณะพระราชทานป่าชุมชนหนองเสม็ด อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินงานตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ขุดสระน้ำสาธารณะ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับราษฎรในชุมชน เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานบุรีรัมย์ อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร