วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2561

วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2561

ข่าวในพระราชสำนัก
พระบรมมหาราชวัง
วันพุธ ที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

วันนี้ เวลา ๑๗.๒๘ น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง
จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘ – ๒๕๕๙ ณ อาคารอเนกนิทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ในวันเดียวกันนี้ เวลา ๑๗.๒๓ น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปี ๒๕๖๑ ของมูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
อนึ่ง เมื่อวันอังคาร ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๙.๔๗ น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘ – ๒๕๕๙
ณ อาคารอเนกนิทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ในวันเดียวกันนั้น เวลา ๐๘.๓๕ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากเรือนรับรองที่ประทับ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ไปยังลานเฟื่องฟ้า พระตำหนัก ทักษิณราชนิเวศน์
อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ทรงร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลทางศาสนาอิสลามแก่ผู้ล่วงลับ ครั้นเสด็จ
พระราชดำเนินถึง เสด็จเข้าภายในพลับพลาพิธี ประทับพระราชอาสน์ นายสูไฮมี มาเกะ โต๊ะอิหม่าม
ประจำมัสยิดบ้านเขาตันหยง นำ คณะกรรมการมัสยิดบ้านเขาตันหยง ทายาทผู้ล่วงลับบ้านเขาตันหยง
และราษฎรในพื้นที่ ร่วมสวดขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ นอกจากนี้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อนำไปจัดสร้างมัสยิดบ้านเขาตันหยง สำหรับบำเพ็ญกุศลทางศาสนาอิสลามของราษฎรในพื้นที่ และพระราชทานถุงของขวัญแก่เด็กนักเรียนจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเขาตันหยง ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๘ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองและเสริมสร้างพัฒนาการแก่เด็ก เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าศึกษาในระดับชั้นปฐมวัย
เวลา ๑๑.๑๓ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน
โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหาดทราย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ทรงติดตามการดำเนินการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กในท้องถิ่นที่ห่างไกลโดยเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ ๖ มีนักเรียนจำนวน ๒๑๓ คน เป็นชาวไทยมุสลิมทั้งหมดและใช้ภาษามาลายู ภาษาถิ่นเป็นหลัก ทำให้การเรียนการสอนในชั้นอนุบาล
ประสบปัญหา เนื่องจากนักเรียนไม่เข้าใจภาษาไทย จึงต้องสอนภาษาไทยคู่ภาษาถิ่น เพื่อสร้างพื้นฐาน
ทางการศึกษา และใช้สื่อการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล เพื่อช่วยลดปัญหาการเข้าถึงหลักวิชาการ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้มาช่วยพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทย เน้นกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง รวมถึงงานวิชาชีพด้านการเกษตร ที่ส่งเสริมให้ปลูกพืช
ผักสวนครัว ไม้ผล และเลี้ยงสัตว์ตามโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยราษฎรในชุมชนได้จัดสรรพื้นที่การเกษตร ๒ ไร่ เนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่บนเนินเขามีพื้นที่ไม่เพียงพอและดินเป็นดินเหนียว โดยได้ปลูกถั่วไซ
/และพืชผล…..

– ๒ –

และพืชผลระยะสั้น อาทิ กล้วย มะละกอ คะน้า สลับกับพืชผลระยะยาว เช่น เงาะ ทุเรียน ผักกาดขาว ผักเหรียง เพื่อให้เพียงพอประกอบอาหารกลางวัน ในโอกาสนี้ ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานจากโรงพยาบาลในจังหวัดสงขลา ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไปตรวจรักษาพยาบาลแก่ประชาชน โดยมี
ผู้เข้ารับบริการตรวจรักษาโรคทั่วไปและทันตกรรม รวม ๔๕๖ คน โรคที่พบส่วนใหญ่ คือ โรคระบบกล้ามเนื้อและผิวหนัง และทรงเยี่ยมราษฎรที่เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จด้วย บ้านหาดทราย มีประชากร ๒๓๒ ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ ๖๐,๐๐๐ บาทต่อปี การเสด็จพระราชดำเนิน
ไปทรงเยี่ยมในครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการบูรณาการร่วมระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่ดำเนินงานสนองพระราชดำริ
เวลา ๑๔.๐๔ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน
โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ไปยังค่ายมหาจักรีสิรินธร กองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๕ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ทรงเปิดอาคาร “กองบังคับการกองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๕” จัดสร้างขึ้นเพื่อ
ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานของฝ่ายอำนวยการต่าง ๆ ได้แก่ ฝ่ายกำลังพล ฝ่ายการข่าว ฝ่ายยุทธการ ฝ่ายส่งกำลังบำรุง ฝ่ายกิจการพลเรือน ฝ่ายการเงิน และฝ่ายสื่อสาร นอกจากนี้ ยังมีห้องประดิษฐานธงชัยเฉลิมพลประจำกองพันด้วย กองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๕ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๑๙ มีที่ตั้งชั่วคราวอยู่ที่ค่าย
เสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ต่อมาปี ๒๕๒๑ ได้ย้ายไปที่ตั้งถาวรที่ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง
จังหวัดปัตตานี ได้รับพระราชทานนามค่ายว่า “ค่ายสิรินธร” ในปี ๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา
ภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กองพัน ฯ เป็นหน่วยทหารใน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ปัจจุบันกองพันได้ย้ายมาอยู่ที่ตั้งแห่งใหม่ บริเวณตำบล
ท่าประดู่ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ และได้รับพระราชทานนามค่ายว่า “ค่ายมหาจักรีสิรินธร” ในโอกาสนี้ ทอดพระเนตรกิจกรรมชมรมแม่บ้านทหารบก สาขากองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๕
ที่ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สร้างรายได้เสริมและยังเป็นการอนุรักษ์งานฝีมือท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย
เวลา ๑๕.๓๘ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน
โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ไปยังเรือนรับรองที่ประทับโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา พระราชทานพระราชวโรกาสให้
นายอุดม ชูลีวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นำ คณะผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียน ฯ ที่จะเกษียณอายุราชการ ในปี ๒๕๖๑ ผู้แทนสมาคมผู้ปกครองและครู ผู้แทนสมาคมศิษย์เก่า ฯ
เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และกราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐ ในโอกาสนี้ ทอดพระเนตรสินค้าและผลิตภัณฑ์จากกลุ่มโอทอปและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดพัทลุง สงขลา และสตูล รวม ๔๔ กลุ่ม ที่ไปออกร้านจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ส่วนใหญ่ผลิตจากพืชและสัตว์ในท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้แก่คนในชุมชน อาทิ ลูกหยีไร้เมล็ด ข้าวกล้องสังข์หยดแห้งชงดื่ม ข้าวยำพร้อมปรุง น้ำบูดู น้ำพริกกุ้งเสียบ มะม่วงเบาแช่อิ่มและหัตถกรรมจักสาน หลังจากนี้จะมีการคัดเลือกสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไปจำหน่าย
ในร้านภูฟ้า เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และสร้างรายได้สู่ชุมชนมากขึ้น