ประวัติสำนักพระราชวัง

          สำนักพระราชวังเป็นหน่วยงานราชการที่มีประวัติของการวิวัฒนาการมาตั้งแต่พุทธศักราช ๑๘๙๓ เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีและทรงจัดระเบียบการปกครองภายในราชธานีออกเป็น ๔ กรม เรียกรวมกันว่า “จตุสดมภ์” ซึ่งแปลว่า “หลักทั้ง ๔” คือ เมือง (เวียง) วัง คลัง นา หัวหน้าจตุสดมภ์ทั้ง ๔ มีตำแหน่งเป็น “ขุน”

          กรมที่เรียกว่า “วัง” อันเป็นต้นกำเนิดของสำนักพระราชวังนี้ มีหน้าที่ดูแลฝ่ายพระราชสำนัก และช่วยแบ่งเบาภาระของพระมหากษัตริย์ในหน้าที่ตุลาการ โดยมี “ขุนวัง” เป็นหัวหน้า 

          ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พุทธศักราช ๑๙๙๑ – ๒๐๓๑) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปรับปรุงระเบียบการปกครองใหม่ โดยแยกการทหารและการพลเรือนออกจากกันเป็นครั้งแรกคือ “สมุหพระกลาโหม” บังคับการฝ่ายทหารทั่วไป และ “สมุหนายก” บังคับการฝ่ายพลเรือนทั่วไป มีตำแหน่งเป็นอัครมหาเสนาบดีเสมอกัน นอกจากนี้ ยังมีจตุสดมภ์อีก ๔ กรม คือ กรมเมือง (เวียง) กรมวัง กรมคลัง และกรมนา ซึ่งมีตำแหน่งรองลงมาคือ เสนาบดี

          ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นต้นมานั้น “กรมวัง” มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบต่อทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชสำนัก รวมทั้งการซ่อมแซมพระบรมมหาราชวัง การพระราชพิธีต่างๆการตรวจสอบดูแลขุนนางทั้งหมดที่จะเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง ยกเว้นมหาดเล็ก ควบคุมพระราชทรัพย์พิเศษเกี่ยวกับพระบรมมหาราชวังตลอดจนดูแลแจกจ่ายทาสและไพร่ไปทำงานในวัดหลวง นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระมหากษัตริย์ในหน้าที่ตุลาการและมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้ง “ยกกระบัตร” ออกไปประจำอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ เมืองละคนโดยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้พิพากษาประจำหัวเมืองและเป็นผู้ดูแลตรวจสอบข้าหลวง อีกทั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้ง “หลวงวัง” ที่มีหน้าที่ดูแลกิจการภายในจวนข้าหลวงนั้น ออกไปประจำตามหัวเมืองอีกด้วย“กรมวัง” ได้มีการแบ่งส่วนราชการออกเป็นกรมย่อยๆ หลายกรม อาทิ กรมพระตำรวจวัง (ตำรวจ เป็นบรรดาศักดิ์ของเขมรโบราณ หมายถึงขุนนางที่มีหน้าที่รับใช้พระมหากษัตริย์ หรือองครักษ์ของพระมหากษัตริย์) กรมพระราชยาน กรมอาวุธหลวง กรมฉางข้าวหลวง และกรมสวนหลวง

          สำหรับตำแหน่งเสนาบดีกรมวังนั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีบรรดาศักดิ์หรือราชทินนามเป็น “พญาธรรมาธิบดี” แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็น “เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์” ใช้ตราเทพยดาขี่พระนนทิการ (พระโคเผือก) เป็นตราประจำตำแหน่ง

          การจัดระเบียบการปกครองที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงวางระเบียบไว้นั้น ยังคงยึดถือปฏิบัติกันต่อมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งนับเป็นเวลานานกว่า ๔๐๐ ปีจนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดระเบียบราชการบริหารแบบกระทรวง ทบวง กรม ขึ้นใหม่ ในส่วนของการบริหารราชการส่วนกลางนั้น  ได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกระทรวงต่างๆ ออกเป็น ๑๒ กระทรวง เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๓๕ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยุบเลิกตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและเสนาบดีจตุสดมภ์ ให้มีเสนาบดีรับผิดชอบการบริหารราชการแต่ละกระทรวงเสมอกัน ดังนั้น “กรมวัง” จึงถูกยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวง เรียกว่า “กระทรวงวัง”  มีหน้าที่ปฏิบัติราชการในพระราชสำนักเช่นเดิม ส่วนงานที่เกี่ยวกับการตุลาการนั้น ได้โอนไปขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้ตั้งขึ้นใหม่ และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมวังแต่เดิมอยู่ก่อนแล้วนั้น เป็นเสนาบดีกระทรวงวัง

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการปรับปรุงส่วนราชการต่างๆ ในกระทรวงวัง ให้มีความเหมาะสมต่อราชการในพระองค์เพิ่มขึ้น อาทิ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งกรมสังกัดกระทรวงวัง ๒๐ กรม คือ กรมบัญชาการ กรมสารวัตรในพระราชสำนัก กรมทะเบียน กรมปลัดบัญชี กรมคลังราชการ กรมพระราชพิธี กรมภูษามาลา กรมสนมพลเรือน กรมวัง กรมรองงาน กรมช้างต้น กรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ กรมทหารรักษาวัง กรมพระนิติศาสตร์ กรมศิลปากร กรมธรรมการ กรมสังฆการี กรมกัลปนา กรมราชบัณฑิต และกรมวังในราชสำนักสมเด็จพระพันปีหลวง

          สำหรับตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังนั้น ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ยกเลิกตราเทพยดาขี่พระนนทิการ (พระโคเผือก) ที่ใช้มาแต่เดิม และให้ใช้ตราพระมหาเทพทรงพระนนทิการ (พระโคเผือก) สำหรับเสนาบดีกระทรวงวังใช้ประทับในสารตราแห่งกิจราชการแทน ส่วนตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังที่ใช้ประทับในกิจการอื่นๆ นั้น ให้ใช้ตราพระนนทิกาน้อย ซึ่งเป็นลายพระนนทิการยืนแท่นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้โอนกรมธรรมการ กรมสังฆการี กรมราชบัณฑิต กรมกัลปนา และกรมศิลปากร ไปสังกัดกระทรวงธรรมการ และยุบฐานะกรมมหาดเล็กหลวงลงเป็นกรมสามัญ สังกัดกระทรวงวังตามเดิม

          เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ แล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศพระบรมราชโองการเปลี่ยนชื่อกระทรวงวังเป็น “ศาลาว่าการพระราชวัง” และตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังเป็น “ผู้สำเร็จราชการพระราชวัง” ศาลาว่าการพระราชวังนี้ มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง และมีหน้าที่บริหารราชการในพระราชสำนัก แบ่งส่วนราชการออกเป็น ๑๐ กรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พุทธศักราช ๒๔๗๖ คือ กรมราชเลขานุการในพระองค์ กรมปลัด กรมวัง กรมพระราชพิธี กรมโขลน กรมวังนอก กรมมหาดเล็กหลวง กรมราชพาหนะ กรมทหารรักษาวัง และกรมพระคลังข้างที่

          ในวันที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ศาลาว่าการพระราชวังได้เปลี่ยนมาเป็นกระทรวงวังดังเดิม ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช ๒๔๗๖ มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับราชการในพระราชสำนัก และแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๗ กรม คือ สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี  สำนักงานปลัดกระทรวง กรมทหารรักษาวัง กรมพระคลังข้างที่ กรมมหาดเล็กหลวง กรมราชเลขานุการในพระองค์ และกรมวัง แต่ในปีต่อมา สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นสมควรให้ยกกรมทหารรักษาวังออกจากหน้าที่ราชการกระทรวงวัง และให้ยุบกรมมหาดเล็กหลวงและกรมวังไปรวมอยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวง ดังนั้น กรมในสังกัดกระทรวงวังจึงเหลือเพียง ๔ กรมเท่านั้น

          ปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรกระทรวงวังได้ยุบฐานะลงมาเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเทียบเท่ากรม และเปลี่ยนนามเป็นสำนักพระราชวัง  มีอำนาจหน้าที่จัดการพระราชวัง ตลอดจนการดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีเลขาธิการพระราชวังรับผิดชอบในการบริหารราชการ ได้แบ่งส่วนราชการเป็น ๔ กอง คือ สำนักงานเลขานุการ กองมหาดเล็ก กองวังและพระราชพิธี และสำนักงานพระคลังข้างที่

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อเสด็จพระราชดำเนินนิวัตจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาประทับในราชอาณาจักรเป็นการถาวร ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ แล้วนั้น สำนักพระราชวังจึงได้เพิ่มจำนวนกองมากขึ้นโดยลำดับ เพื่อรองรับพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมายที่ต้องทรงปฏิบัติในฐานะองค์พระประมุขของประเทศ

          ปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ เป็นปีที่ ๑ ในรัชกาลปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดฐานะของส่วนราชการขึ้นใหม่ให้เป็นส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายอื่นใด ทั้งนี้ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. ๒๕๖๐ หรือพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างภายในหน่วยงาน 

(ข้อมูล: สารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก ,ประวัติสำนักพระราชวัง เรียบเรียงโดย หม่อมราชวงศ์แสงสูรย์ ลดาวัลย์, ๒๕๓๕ )