“แหล่งน้ำในพระราชดำริ มีน้ำ มีแหล่งอาหาร” โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยวังเงียงพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ตําบลห้วยสีเสียด อําเภอภูหลวง จังหวัดเลย

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ.2566

      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยวังเงียงพร้อมระบบส่งน้ำ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ราษฎรได้รับประโยชน์ จำนวน ๒ หมู่บ้าน ๘๒๐ ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตร ๑,๖๒๗ ไร่ราษฎรต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตามที่ราษฎรบ้านน้ำพุพัฒนา หมู่ที่ ๓ ตําบลห้วยสีเสียด อําเภอภูหลวง จังหวัดเลย ได้ (ฎีกา) หนังสือขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยวังเงียง เพื่อช่วยเหลือราษฎรซึ่งประสบความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำ สําหรับอุปโภคบริโภคและทําการเกษตร
     “ฎีกา” มีการให้คำจำกัดความไว้ในหลายด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมาย การศาล เช่น ฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษ รวมทั้ง การเงิน ด้านศาสนา หากแต่ “ฎีกา” ที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนา ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมายถึง คำร้องทุกข์ที่ราษฎรทูลเกล้า ฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์ เช่น การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ฝนแล้ง น้ำท่วม เป็นฎีกาที่ไม่อยู่ในกฎหมายใด แต่เป็นช่องทางของราษฎรที่จะนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทดังปรากฏมาแต่โบราณ จัดว่าเป็นพระราชอำนาจและพระราชภาระมาแต่โบราณ จนกลายเป็นนิติประเพณี

       นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบปะราษฎรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยวังเงียง

      นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี และส่วนราชการที่เป็นคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมปล่อยพันธุ์ปลา ลงในอ่างเก็บน้ำห้วยวังเงียง เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้แก่ราษฎร “แหล่งน้ำในพระราชดำริ มีน้ำ มีแหล่งอาหาร”

ลักษณะโครงการเป็นทํานบดินกว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๑๐ เมตร สูง ๑๙ เมตร ความจุประมาณ ๖๓๘,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร

ข่าวประชาสัมพันธ์และกิจกรรมอื่นๆ