เสาศิลา ประดิษฐาน ณ บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2566

     บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการตั้งเสาบัวอยู่เบื้องหน้า ลำต้นของเสานั้นเป็นมีลักษณะอย่าง “เสาตั้งธรรมจักร” ที่พบในสมัยทวารวดี กล่าวคือ มีลักษณะเป็นเสาแปดเหลี่ยม ปลายเสาสลักเป็นลวดลายพวงมาลัย พวงอุบะ หากแต่ยอดเสานั้น มีการซ่อมแซมด้วยการหล่อรูปบัวคลุ่ม หรือลวดลายดอกบัวที่มีกลีบซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เสาบัวในลักษณะนี้เดิมนิยมในเป็นเสาภายในอาคารประเภทพระอุโบสถพระวิหารในสมัยทวารวดี การใช้บัวกลุ่มซ้อนกันเป็นเถา เพื่อใช้เป็นยอดพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง หรือสืบมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็ยังมีความนิยมในรูปแบบบัวกลุ่มนี้เป็นฐานพระพุทธสาวก เช่น ฐานบัวของพระโมคคัลลานะพระสารีบุตรที่อยู่เบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงมีความเป็นไปได้ว่ายอดเสารูปบัวคลุ่มนี้ก็คงสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วยเช่นกัน

จารึกเขมรบนเสา

จากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ระบุว่า เสาต้นนี้เป็นจารึกหลักที่ ๓๙ เสาศิลาแปดเหลี่ยม จารึกความเป็นภาษาเขมร อักษรขอมโบราณ เป็นข้อความ ๔ บรรทัด ความว่า
“๑๒๓๘ ศก
นพมี เกต เชฺยษฺฐ ไพศาข
โลยศุกฺรพารอุตฺตรผลฺคุณี
นกฺษตฺร ทิกฺ พฺยร นา มฺวย ถฺมา ไถฺง”
แปลความได้ว่า
“(มหา) ศักราช ๑๒๓๘
ขึ้นเก้าค่ำ เดือนเจ็ด, เดือนหก,
ศุกรพาร อุตรผลคุณี
นักษัตร น้ำสอง (…) ในเพลาวันหนึ่ง”

       แล้วเสาศิลาต้นนี้ มาจากที่ไหน? แม้จากฐานข้อมูลจารึกนั้นระบุว่าไม่ปรากฏผู้พบ ปีที่พบ และสถานที่พบ แต่ใน “เทศนาพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏความอันเป็นไปได้ว่า สื่อความหมายถึงจารึกหลักนี้ ดังความตอนหนึ่งว่า
“…เมื่อปีมะเส็ง เบญจศก จุลศักราช ๑๑๙๕ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังดำรงสมณเพศ) เสด็จไปประพาสเมืองเหนือ (คือเมืองสุโขทัย) … ทรงได้เสาศิลาจารึกอักษรเขมรเสาหนึ่ง จารึกอักษรไทยโบราณเสาหนึ่ง (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง) ซึ่งตั้งไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม…

     จึงมีความเป็นไปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้นำเสาศิลาต้นนี้ มาพร้อมกับศิลาจารึกหลักที่ ๑ และพระแท่นมนังคศิลาบาตร หรืออาจจะสันนิษฐานย้อนขึ้นไปว่า ผู้ที่จารึกบนเสานี้เป็นชาวสุโขทัย ด้วยในสมัยหนึ่งอาณาจักรสุโขทัยก็เคยใช้มหาศักราชในการบันทึกด้วยเช่นเดียวกัน ข้อความที่ปรากฏบนเสาศิลานั้น จึงอาจเป็นฤกษ์ที่ใช้ในการยกเสาต้นนี้ขึ้นก็เป็นได้ เสาต้นนี้จึงอาจเป็นโบราณวัตถุที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี และถูกใช้ต่อมาในราชอาณาจักรสุโขทัย ก่อที่จะชะลอเคลื่อนย้ายมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมัยรัตนโกสินทร์ และอยู่คู่พระอารามมาจนถึงปัจจุบัน

ศรัณย์ มะกรูดอินทร์
แหล่งข้อมูล :: FB เพจ เรื่องเล่า..วัดบวรฯ