พระราชดำรัส ในโอกาสที่ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำต่างประเทศ เข้าเฝ้า ฯ กราบถวายบังคมลา ในโอกาสที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต วันอังคาร ที่ 7 มีนาคม 2560

วันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2560
พระราชดำรัส(๑) 

ในโอกาสที่ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ(๒) 
นำคณะเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำต่างประเทศ 
เข้าเฝ้า ฯ กราบถวายบังคมลา ในโอกาสที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ 
ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต 
วันอังคาร ที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๐ 

ทุกท่านก็เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีอาวุโส และมีวุฒิภาวะมากพอสมควรแล้ว 
ก็คงจะเข้าใจในหน้าที่ที่จะต้องไปปฏิบัติซึ่งก็คือผู้แทนของประเทศ ผู้แทนของรัฐบาล 
ผู้แทนของประชาชน ในประเทศที่ท่านได้รับการมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่. 

สิ่งสำาคัญที่จะต้องให้ความสนใจ เริ่มต้นจากที่บ้านเราก่อน คือ ผู้ที่ไป 
ปฏิบัติหน้าที่ทูตก็ควรมีความลึกซึ้ง มีความเข้าใจในประเทศของเราเอง ประเทศไทย 
นั่นเอง เข้าใจประเทศไทย เข้าใจประชาชนชาวไทย เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีและ 
วัฒนธรรมของประเทศ ตลอดจนจุดยืนของประเทศ ว่าเป็นอย่างไร เพราะหลายแห่ง 
ที่ผ่านมา บางทีพอถามถึงประเทศไทยก็ตอบไม่ได้. อีกอย่างหนึ่งที่จะต้องเข้าใจ 
คือเข้าใจว่าท่าที ลักษณะความสัมพันธ์ในทุกรูปแบบกับมวลประเทศที่เราไป ประเทศ 
ที่เราประจำอยู่ สภาพประเทศเขาเป็นยังไง ขนบธรรมเนียมประเพณีเขาเป็นยังไง 
วิธีปฏิบัติเขาเป็นยังไง ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวพันกับประเทศไทยตลอดจนกับเวทีโลก 
เป็นอย่างไร. สองอย่างนี้รวมกันก็จะทราบว่าเราควรอยู่ตรงไหน ปฏิบัติตนอย่างไร. 

เมื่อประจำอยู่ต่างประเทศ ก็ต้องมีความขวนขวายที่จะทำตัวให้ทันสมัยในเรื่อง 
ของบ้านเรา ทำตัวให้ทันสมัยในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของประเทศที่เรา 
ประจำอยู่. ในเวลาเดียวกัน รักษาผลประโยชน์ของประเทศ ก็คือเป็นผู้แทนด้วย 
และเป็น เรียกว่าเป็นแนวหน้า ของประเทศไทยในประเทศเขา. เมื่อมีอะไรผ่าน 

(๑) เรียบเรียงขึ้นตามที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้ 
(๒) นางบุษยา มาทแล็ง 

539

เข้ามา มีอะไรที่น่าจะต้องสงสัย มีปัญหาใดๆ ก็น่าที่จะชี้แจงรายงาน แนะนำให้ผู้ใหญ่ 
ในเมืองไทยได้ทราบตามสายงาน. ตลอดจนหน้าที่ทูตก็รู้กันอยู่ดีแล้วว่าสร้างมิตร 
สร้างความรู้สึกที่ดี เพื่อปฏิบัติภารกิจอย่างที่ได้พูดไปแล้ว. ในเวลาเดียวกัน ก็ต้อง 
มีความอดทน อดกลั้น และทราบความจริงโดยปราศจากอคติ. การดูแลประชาชน 
คนไทย ก็เป็นหน้าที่ที่จะดูแลความกระจ่างแจ้ง หรือความอบอุ่น หรือแก้ปัญหา 
ให้กับเขา. เรื่องอะไรที่มันไม่ดี อะไรที่มันเข้าใจผิด เรื่องอะไรที่มันวุ่นวาย ก็มีหน้าที่ 
ชี้แจงความจริงให้แก่ประเทศที่เราอยู่ แล้วก็ทำความเข้าใจกับประชาชน ถ้าเผื่อมีอะไร 
ที่เข้าใจผิดออกนอกลู่นอกทาง. 

บางทีก็ต้องทำใจว่าแต่ละประเทศเขาก็มีผลประโยชน์ของเขาอยู่แล้ว เราก็มีจุดยืน 
มีผลประโยชน์ของเรา. ถึงได้พูดตั้งแต่ต้นว่า ถ้าเรายังไม่รู้จักประเทศของเราเอง 
ถ้าเรามีอคติในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราก็จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีไม่ได้. ใช้ความอดทน 
ใช้ความขยัน ใช้ความที่จะวิ่งเข้าหางาน เพราะการเป็นทูตสมัยนี้กับการเป็นทูต 
เมื่อสี่สิบห้าสิบปีนี้มันก็ไม่เหมือนกัน. การติดต่อสื่อสารต่าง ๆ ทำให้โลกแคบลง 
เพราะฉะนั้น อะไรบางอย่างมันก็ง่ายขึ้น เทียบกับตอนที่ห้าสิบปีก่อนนี้. ปล่อยหลุด 
ไปเลย ก็อาจจะเป็นที่ล้าสมัยได้ง่าย. เป็นทูตนี่ล้าสมัยไม่ได้. ถ้าล้าสมัยอยู่แต่ใน 
ทำเนียบอย่างเดียว ไม่สนใจอะไร มันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา. 

ที่พูดนี่ก็เป็นความคิดส่วนตัวที่ให้ท่านไปพิจารณาเอาเอง เพราะท่านทั้งหลายนี่
ก็เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีชั่วโมงมามาก. นี่คือหน้าที่คืองาน หนึ่งในหน้าที่หลายๆ 
หน้าที่ ที่ยกขึ้นมาพูดให้ฟัง. ทูตสมัยนี้ไม่เหมือนทูตสมัยก่อน. เรื่องพิธีการทูต 
เรื่องอะไรต่อมิอะไรนี่ ก็รักษาไว้ซึ่งความสวยงามตามประเพณี. หน้าที่จริงๆ ของทูต 
คือหน้าที่ที่จะต้องทำงาน. เรื่องพิธีต่างๆ นี่ก็พอควรพองาม. 

ก็ขอให้พรให้ท่านทั้งหลายไปปฏิบัติหน้าที่ซึ่งท่าน นัยว่าควรจะรู้ดีอยู่แล้ว 
ก็ขอให้ไปปฏิบัติ. ขอให้พรให้โชคดี ไปอยู่ด้วยความสบายใจ มีกำลังกายกำลังใจ 
มีกำาลังปัญญาที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี. แล้วก็ทูตนี่นะ ไม่ว่าจะเวลาไหน ถ้าไปเป็นทูต 
เราได้รับเกียรติ ได้รับเอกสิทธิ์ต่าง ๆ ก็ถือว่าเราปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ยี่สิบสี่ชั่วโมง. 
เพราะฉะนั้น ความรับผิดชอบอยู่กับท่านยี่สิบสี่ชั่วโมง ตราบใดที่ยังดำรงตำแหน่ง. 
ไม่ใช่ติดต่อไม่ได้ หรือไม่รับทราบไม่รับรู้อะไรต่างๆ ต้องไปถามเลขารัฐมนตรี เลขาทูต 
หรือถามใครต่อใคร. ถ้าไปถามทูตก็ต้องได้ข้อมูล ต้องสามารถจะแก้ปัญหา 
และตอบได้ในเรื่องงานต่าง ๆ. ก็ขอให้โชคดี. 

540