วันพุธ ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2567

วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2567
ข่าวในพระราชสำนัก
                            พระบรมมหาราชวัง
วันพุธ  ที่  ๒๐ มีนาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๗
เมื่อวันอังคาร ที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๗  เวลา  ๐๘.๐๑  น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี  สิริกิจการิณีพีรยพัฒน
รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากโรงแรมทวินโลตัส
อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช  ไปทอดพระเนตรการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ
ปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น เมื่อปี ๒๕๒๑ เพื่อแก้ปัญหาและ
พัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ฯ รวมทั้งช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยธรรมชาติ ทำการเกษตรไม่ได้ผล โดยมี
ส่วนราชการต่าง ๆ ร่วมสนองพระราชดำริ นับตั้งแต่เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการ ฯ ในปี ๒๕๕๑ ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ฯ มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ ๓ จังหวัด ๑๓ อำเภอ ได้แก่
จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา เป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ทำหน้าที่กำหนดแนวทาง และดำเนินโครงการ ฯ ให้เป็นไปตาม
แนวพระราชดำริอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดทำแผนพัฒนาต่าง ๆ อาทิ ด้านงานขยายผล ส่งเสริมอาชีพการเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ในรูปแบบศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ การปรับปรุงดินเปรี้ยว โดยใช้โดโลไมท์ ในพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน และหว่านหินปูนฝุ่นดำซ้ำ สำหรับเตรียมดินเพื่อปลูกข้าว ด้านพัฒนาสิ่งแวดล้อม สามารถสงวน  และอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำให้คงความอุดมสมบูรณ์ บำรุงรักษาพื้นที่ป่าชายเลน สร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ที่ตำบลตะลุมพุก และตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก ฟื้นฟูแปลงป่าพรุ  ด้านการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้
เน้นบริหารจัดการทรัพยากรดินและน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการทำเกษตร ใช้งานวิจัย เทคโนโลยี  นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยเพิ่มผลผลิตสร้างมูลค่าให้สินค้าเกษตร อาทิ การแปรรูปภาชนะใบจาก
ซึ่งมีพื้นที่ปลูก จำนวน ๓,๐๐๐ไร่ นอกจากนี้ ยังมีการทำน้ำส้มจาก น้ำตาลจาก น้ำตาลจากชนิดผง มีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งและไปศึกษาดูงาน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและนำมาลงมือปฏิบัติในกลุ่มการอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมือง คัดเลือกพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะเด่น ๓ สายพันธุ์ ในตำบลบ้านเพิง อำเภอปากพนัง และนำมาแปรรูป
เพื่อเพิ่มมูลค่า อาทิ แป้งข้าวลูกลาย คุกกี้แป้งข้าวลูกลาย ไวน์ข้าวลูกลาย ส่งเสริมให้ขยายพันธุ์ปลาดุกลำพัน
ซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่นใกล้สูญพันธุ์ อาศัยอยู่ในป่าพรุ การพัฒนาผลิตภัณฑ์กิมจิ โดยนำผักที่มีอัตลักษณ์ของชุมชน
มาเป็นวัตถุดิบ ในโอกาสนี้ ทรงปรุงกิมจิฝรั่งกิมจู ที่ให้วิตามินซีสูง โดยใช้พริกจินดาแห้ง และน้ำตาลจาก
ให้ความหอม รวมถึงพัฒนาตราสินค้า บรรจุภัณฑ์ และช่องทางการตลาดเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้ชุมชน
จากนั้น ประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่ง ไปทรงเปิดโครงการศูนย์ผลิตและส่งเสริมพันธุ์สัตว์พระราชทานปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๖๓ เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งเสริมพันธุ์สัตว์พระราชทาน
ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เพื่อให้ได้สายพันธุ์สัตว์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ฝึกอบรมทักษะ ความรู้ในการ
เลี้ยงสัตว์ แก่นักเรียน และเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้มีแหล่งอาหารโปรตีนสำหรับบริโภคในโรงเรียน
/ โดยในปี ๒๕๖๖ …
– ๒ –
โดยในปี ๒๕๖๖ มีการผลิตพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ไก่ไข่ และผลิตไก่ไข่ อายุ ๒๐ สัปดาห์ เพื่อพระราชทานแก่โรงเรียนในสังกัดโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร จำนวน ๙ แห่ง และขยายผลสู่ชุมชน มีการฝึกอบรมเกษตรกรโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่เพศผู้ และเพศเมีย ในปี ๒๕๖๗ มีแผนผลิตไก่ไข่พระราชทาน
เพื่อพระราชทานเพิ่มให้กับโรงเรียนในสังกัด ฯ และราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ ยังมีแปลงสาธิตและ
อนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมือง โดยรวบรวมข้าวพันธุ์พื้นเมือง จำนวน ๔๔ สายพันธุ์ สำหรับอนุรักษ์ ปลูกด้วยวิธี
ปักดำรวงต่อแถว เพื่อใช้เป็นฐานพันธุกรรมสำหรับแปลงสาธิตและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง สายพันธุ์ที่นิยมปลูก
และบริโภคมากที่สุด ได้แก่ พันธุ์ลูกลาย พันธุ์ช่อหลุมพลี พันธุ์เหลือง พันธุ์กาบดำ และพันธุ์อีโข้ ต่อจากนั้น ทอดพระเนตรแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ “พอ…เพียงนี้ก็พอ” ใช้หลักการใช้ประโยชน์ที่ดินและน้ำพึ่งพาตนเอง
ในพื้นที่ จำนวน ๓ ไร่ ๒ งาน มีสระเก็บน้ำ ปลูกพืช และเลี้ยงปลา ปลูกผักหมุนเวียนที่เหมาะสมกับพื้นที่ อาทิ ผักกาดขาว ผักบุ้ง เป็ดไข่อารมณ์ดี ผลิตอาหารสัตว์สูตรต่าง ๆ จากวัตถุดิบในท้องถิ่น สมควรแก่เวลา
จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่ง
เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร